รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2014 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. สศอ. เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 57 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 จากปีก่อน

2. สศอ. เผยยอดขายเหล็กที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. ธนาคารดอยช์แบงก์ ชี้ เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่า

1. สศอ. เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 57 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 จากปีก่อน
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ในเดือนมิ.ย. 57 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 จากปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 60.6 โดย MPI ไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.0 จากปีก่อน ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.1 จากปีก่อน ส่งผลให้ MPI ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.1 จากปีก่อน ขณะที่อัตราใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 60.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า MPI ในเดือนมิ.ย. 57 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 จากปีก่อน ตามการปรับตัวลดลงของผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และเครื่องแต่งกาย ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 26.8 23.7 และ 12.8 จากปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่อุตสาหกรรม การผลิตวิทยุและโทรทัศน์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ธ.ค. 56 โดยในเดือน มิ.ย. 57 MPI ของอุตสาหกรรมการผลิตวิทยุและโทรทัศน์ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากปีก่อน ตามการขยายตัวของดิจิตอลทีวี ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 57 MPI ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.1 จากปีก่อน โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมอาหารยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 27.6 20.4 และ 4.1 จากปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามแนวทางการฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้ขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 57
2. สศอ. เผยยอดขายเหล็กที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือ สศอ. เปิดเผยปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.1
  • สศค.วิเคราะห์ว่า สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในปี 57 โดยปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) ตามการขยายตัวของเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (น้ำหนักร้อยละ 13.2 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 50.0 ต่อปี ขณะที่ยอดขายเหล็กเส้น ข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 64.4) ที่หดตัวร้อยละ -1.4 ต่อปี และเหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 11.2) ที่หดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมในช่วง 6 เดือนแรกปี 57 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
3. ธนาคารดอยช์แบงก์ ชี้ เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่า
  • ธนาคารดอยช์แบงก์ ระบุว่า เงินหยวนของจีนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นปานกลาง ภายหลังสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีความชัดเจนมากขึ้น ธนาคารดอยช์แบงก์ ระบุว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 2 ของจีนบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือนมิ.ย.แสดงให้เห็นว่า การฟื้นตัวจะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงที่รายจ่ายการคลังปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นช่วงที่คาดว่าจะมีการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายแบบเจาะจงเป้าหมาย และอุปสงค์จากต่างประเทศอาจกระเตื้องขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังรัฐบาลจีนเริ่มทยอยปฏิรูปภาคการเงินตั้งแต่ต้นปี 57 โดยการลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนลง และประกาศขยายช่วงความเคลื่อนไหวค่าเงินหยวนจาก 1% เป็น 2% ส่งผลให้เงิน ค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่กลางปี 56 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของจีนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีนในเดือน มิ.ย. 57 ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน ซึ่งเป็นผลจากดัชนีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตาม (1) ปริมาณกิจกรรมของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น (2) ดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 56 และ (3) ดัชนีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 10 สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมภาคบริการของจีนที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง และจากข้อมูลล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม โดย HSBC เดือน ก.ค. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 18 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 52.0 และสูงกว่าคาดการณ์ของตลาด โดยดัชนีฯ ดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งสะท้อนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีฯที่อยู่ในระดับดีต่อเนื่องดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการจ้างงานในประเทศ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ