รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 21, 2014 10:49 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2557

Summary:

1.กนง. ระบุ ปี 57 อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด

2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ก.ค. อยู่ที่ระดับ 89.7 สูงสุดรอบ 8 เดือน

3. ธนาคารกลางเยอรมันยอมรับ GDP ไม่เติบโตตามเป้า

1.กนง. ระบุ ปี 57 อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินฉบับย่อ หรือ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ต่อปี ว่า เหตุผลที่ กนง. ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากแม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนแต่ยังมีความเสี่ยงอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด จึงยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากจะเอื้อต่อความพยายามของภาครัฐในการปฏิรูปประเทศเพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยโดยไม่กระทบเสถียรภาพการเงินในภาพรวม
  • สศค. วิเคราห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/57 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.5 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศ หากพิจารณาจากแหล่งที่มาของการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าในครึ่งแรก จากปัจจัยบวกด้านความชัดเจนในเรื่องของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐรวมทั้งการเร่งรัดการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐที่แต่เดิมมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด รวมถึงการเร่งกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 57 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ก.ค. อยู่ที่ระดับ 89.7 สูงสุดรอบ 8 เดือน
  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ก.ค. 57 จำนวน 1,147 รายครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 89.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.4 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนมิ.ย.
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทิศทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการดำเนินนโยบายภายใต้ Roadmap ของ คสช. ส่งผลให้การดำเนินกิจการของผู้ประกอบการมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบ SMEs สะท้อนได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และกังวลต่อการตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป ซึ่งจากความกังวลดังกล่าวยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าดัชนีฯ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100
3. ธนาคารกลางเยอรมันยอมรับ GDP ไม่เติบโตตามเป้า
  • ธนาคารกลางเยอรมันหรือ บุนเดสแบงก์ เปิดเผยรายงานประจำเดือน โดยระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศอาจจะไม่แข็งแกร่งตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากสาเหตุความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ แม้ว่าทิศทางช่วงขาขึ้นโดยรวมจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเยอรมันในช่วงครึ่งปีแรกของปี 57 ชะลอตัวลงอย่างมากโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปี 57 โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่สามารถเติบโตสูงสุดในรอบ 3 ปี ที่ร้อยละ 2.5 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่า หดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยเป็นผลมาจากการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนเป็นสำคัญ โดยภาคการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเยอรมัน ขณะที่ภาคการลงทุนได้รับผลกระทบจากวิกฤติความขัดแย้งในยูเครน สำหรับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมันในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57 ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยข้อมูลล่าสุดได้ชี้ให้เห็นว่า ความตึงเครียดทางการเมืองระดับภูมิศาสตร์ (Geopolitics) โดยเฉพาะวิกฤติในยูเครน ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจของเยอรมัน โดยสถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมันได้เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมันในเดือน ก.ค.57 ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ที่ระดับ 108.0 ขณะที่คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่างปรับตัวลงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เศรษฐกิจของเยอรมันที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยูโรโซนมีทิศทางการเติบโตที่ชะลอลงย่อมจะส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจของยูโรโซน โดย สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.1 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ