รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 12, 2014 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กันยายน 2557

Summary:

1. หอการค้าไทยเผย ยอดใช้เงินต่อบัตรเครดิตต่ำสุดตั้งแต่สำรวจมา

2. อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเลเซีย เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.5

1. หอการค้าไทยเผย ยอดใช้เงินต่อบัตรเครดิตต่ำสุดตั้งแต่สำรวจมา
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของประชาชนว่า คาดว่าในปี 57 มูลค่าการบริโภคผ่านบัตรเครดิตจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.53 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่าการใช้รวมอยู่ที่ 1.45 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพียงร้อยละ 5.2 โดยมูลค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อใบอยู่ที่ 7.53 หมื่นบาทต่อปี ต่ำสุดตั้งแต่มีการสำรวจมา และลดลงจากปีก่อนที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 7.84 หมื่นบาทต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการใช้บัตรเครดิตในปีนี้ที่ขยายตัวในระดับต่ำ สอดคล้องกับการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริง ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.3 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า อีกทั้งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับมีเสถียรภาพที่ร้อยละ 2.4 ทั้งนี้ หากพิจารณาพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของประชาชน พบว่ามีแนวโน้มที่จะใช้บัตรเครดิตลดลงในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากประชาชนยังไม่เชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังไม่ต้องการเป็นหนี้มากขึ้น ประกอบกับรายได้ลดลงและวงเงินเต็มแล้ว สอดคล้องกับตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 57 อยู่ที่ 9.87 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82.7 ของ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ สัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ (Special-mentioned loan: SM) ซึ่งล่าสุด ณ ไตรมาส 2 ปี 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ของสินเชื่อรวม โดยสินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้สูงถึงร้อยละ 8.2 ของสินเชื่อรวม สูงขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบทั้งต่อการบริโภคภาคเอกชนและเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารที่เน้นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลได้ จำเป็นต้องจับตามองต่อไปอย่างใกล้ชิด
2. อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผย อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของจีน เดือน ส.ค. 57 ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากราคาสินค้าในหลายหมวดสำคัญที่มีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ราคาสินค้าหมวดที่อยู่อาศัยหมวดการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาสินค้าหมวดอาหาร ซึ่งเป็นชนิดสินค้าที่มีสัดส่วนน้ำหนักมากที่สุดในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ราคาเนื้อสัตว์ เช่น หมู หดตัวลงร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ราคาผลไม้ขยายตัวร้อยละ 21.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งยังคงอยู่ต่ำกว่ากรอบที่ทางการจีนประมาณการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.5 สำหรับทั้งปี 57 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสมเหตุสมผล แต่จากทีท่าของนายกรัฐมนตรีจีน (นายหลี่ เค่อเฉียง) ที่ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างกระทันหัน นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงยังคงเชื่อทางการจีนจะยังคงไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็ววันนี้
3. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเลเซีย เดือน ก.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.5
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติมาเลเซีย เปิดเผยตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวในอัตราต่ำที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการผลิตสินค้าในทุกหมวดที่หดตัวจากเดือนก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในอัตราต่ำในเดือนดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 57 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นชะลอตัวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เศรษฐกิจมาเลเซียช่วงครึ่งแรกของปี 57 ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการส่งออกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี จากระดับการเปิดประเทศของมาเลเซียในปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 174.7 ของ GDP บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการค้าระหว่างประเทศในระดับสูง กอปรกับจากแนวโน้มภาคการผลิตและการค้าที่ขยายตัวอย่างเปราะบางอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญประการหนึ่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในปี 57 จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ ร้อยละ 5.2 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ