รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 15, 2014 15:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กันยายน 2557

Summary:

1. ปลัดพาณิชย์ ยันการส่งออกข้าวไปแอฟริกายังไม่ได้รับผลกระทบจาก "อีโบลา"

2. ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาด กนง.คงดอกเบี้ยร้อยละ 2.0 จนถึงสิ้นปี 57

3. จีนเล็งเพิ่มตัวชี้วัดเศรษฐกิจ

1. ปลัดพาณิชย์ ยันการส่งออกข้าวไปแอฟริกายังไม่ได้รับผลกระทบจาก "อีโบลา"
  • นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ส่งออกระบุว่าขณะนี้การส่งออกข้าวไปแอฟริกามีปัญหาเพราะเรือขนส่งสินค้าวิตกในเรื่องการติดเชื้อระบาดอีโบลานั้นจากการสอบถาม ไปยังสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยยังยืนยันว่าส่วนใหญ่เรือขนส่งสินค้ายังดำเนินการตามปกติอาจมีบางรายเท่านั้นที่อาจชะลอบางเส้นทางที่วิตกในเรื่องของการระบาดของอีโบลาแต่ในเบื้องต้นยังไม่เห็นผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าไทยซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกในภาพรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการรายงานผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาต่อการส่งออกสินค้าไทย แต่ในเบื้องต้นการแพร่ระบาดของโรคอีโบลามีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งในปี 56 มีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกไทยรวมทั้งหมดร้อยละ 3.5 โดยการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าใน ทวีปแอฟริกาในช่วง 7 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.9 สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ข้าว (สัดส่วนร้อยละ 27.4) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วนร้อยละ 17.9) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (สัดส่วนร้อยละ 6.5) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 3.9) และเม็ดพลาสติก (สัดส่วนร้อยละ 3.9) ดังนั้น หากการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยลดการขนส่งสินค้าส่งออกข้าวไปยังแอฟริกา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของมูลค่าส่งออกข้าวไทยให้ลดลงประมาณร้อยละ 1.0
2. ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาด กนง.คงดอกเบี้ยร้อยละ 2.0 จนถึงสิ้นปี 57
  • ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะยังคงอัตรานโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ในการประชุมครั้งที่ 6/57 ในวันที่ 17 ก.ย. 57 นี้ เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยได้ส่งสัญญาณว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มไต่ระดับกลับมาพร้อมกับการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวกลับมาในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 57 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.00 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.50 - 2.50 ต่อปี) แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อาจมีทิศทางเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากความเสี่ยงของสถานการณ์ทางการเมืองในอิรัก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยง โดยเฉพาะจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ ควรติดตามสถานการณ์การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งแปรผันสอดคล้องกับความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค ขณะที่แนวทางการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีทิศทางชัดเจนมากขึ้นจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 57
3. จีนเล็งเพิ่มตัวชี้วัดเศรษฐกิจ
  • สำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติของจีนประกาศเตรียมสร้างชุดตัวชี้วัดอื่นๆ นอกเหนือไปจาก GDP เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องสะท้อนเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ ด้วย อันประกอบไปด้วย 8 ชุดหลักเกณฑ์ ได้แก่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ (Economic security) โครงสร้างเศรษฐกิจการยกระดับภาคอุตสาหกรรม ระดับผลกำไรและนวัตกรรม สิ่งแวดล้อม และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน สำนักงานฯ ให้ความเห็นว่านี่เป็นก้าวย่างที่สำคัญของจีนในการเปลี่ยนผ่านจากการยึดถือเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมาเป็นเวลานานไปเป็นการมุ่งเน้นที่คุณภาพและประสิทธิภาพของการเติบโต โดยสำนักงานฯ รายงานว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรวบรวมและจัดทำข้อมูล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแนวทางการชี้วัดเศรษฐกิจมีนัยยะที่แสดงถึงทิศทางของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่อาจเปลี่ยนเข้าสู่ระดับปกติใหม่ (New normal) ที่ประมาณร้อยละ 7.0 อย่างแท้จริง เนื่องจากการตั้งตัวชี้วัดอย่างรอบด้านจะทำให้การดำเนินนโยบายมีลักษณะที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่ออัตราการเติบโตอย่างเต็มที่ จากการที่ต้องพิจารณาถึงเสถียรภาพ หรือ สิ่งแวดล้อมซึ่งขัดแย้งกับการเติบโตในบางแง่มุม การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับการที่ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนออกมากล่าวในช่วงก่อนหน้านี้ว่า จีนจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับอัตราการเติบโตในระดับปกติใหม่นี้ให้ได้ ทั้งนี้ทาง IMF ได้ออกมาให้ความเห็นต่อเศรษฐกิจจีนในปีหน้าว่า จีนควรปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือร้อยละ 6.5 ถึง 7.0 ซึ่งชะลอลงจากปีนี้ที่IMF คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.4 นัยยะในลักษณะนี้ถือว่าเป็นข่าวที่ไม่ดีนักต่อไทยซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพิงการค้าขายกับจีนระดับสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ส่งออกและภาครัฐจึงควรมีการเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการเติบโตในระดับร้อยละ 7.0 ของจีนในระยะยาว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ