รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 18, 2014 11:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 กันยายน 2557

Summary:

1. กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2

2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 57 ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

3. ภาคเอกชนญี่ปุ่นเตือนผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นดำเนินนโยบายเงินเยนอ่อนค่าส่งกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่น

1.กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2 ซึ่งยังจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดเล็กน้อย นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายในประเทศของครัวเรือน ธุรกิจ และภาครัฐเริ่มฟื้นตัว และส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้น และคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไป ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก่อนปรับเข้าสู่ระดับปกติ
  • สศค. วิเคราห์ว่า การที่ กนง. มีมติคงดอกเบื้ยนโยบายที่ร้อยละ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 และ 0.8 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดเริ่มมีสัญญาณปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศพบว่า มูลค่าส่งออกหักสินค้าในหมวดทองคำขยายตัวได้เล็กน้อย แม้การส่งออกสินค้าโดยรวมกลับมาหดตัวอีกครั้ง ส่วนเสถียรภาพของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 57 ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค.57 อยู่ที่ระดับ 88.7 ลดลงจากระดับ 89.7 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกหลังจากความเชื่อมั่นฟื้นตัวมาตลอดในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.4 ลดลงจากระดับ 103.1 ในเดือนก่อนหน้า จากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลของผู้ประกอบการต่อการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศที่สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า รวมทั้งผลกระทบจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้าและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ส.ค. 57 พบว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยอยู่ที่ระดับ 70.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 68.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังปรับขึ้นไม่สูงนักเนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้วางกรอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ได้แก่ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 57-58 การเร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน โครงการจ้างงานระยะเร่งด่วนผ่านหน่วยงานรัฐ การส่งเสริมสินค้าเกษตร และการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะปานกลาง-ยาว ได้แก่ แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยด้านการขนส่งและคมนาคม การปฏิรูปภาษี การปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง การปรับปรุงการบริหารรัฐวิสาหกิจ การเร่งพัฒนา ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs ) ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5) (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
3. ภาคเอกชนญี่ปุ่นเตือนผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นดำเนินนโยบายเงินเยนอ่อนค่าส่งกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่น
  • ภาคเอกชนเตือนผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นว่า เงินเยนที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าและเชื้อเพลิงสูงขึ้น ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้แม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอลง สะท้อนได้จากGDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเครื่องชี้ล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 57 โดยการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 41.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 41.8 จุด และถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ การเคลื่อนไหวของสกุลเงินเยนจะไม่ได้สร้างปัญหาให้กับญี่ปุ่น และถือเป็นเรื่องปกติที่ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังคงกังวลกับเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.3 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ