รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 กันยายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2014 13:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 กันยายน 2557

Summary:

1. พาณิชย์เผยส่งออก ส.ค.หดตัวร้อยละ -7.4 และนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.17

2. พาณิชย์ทบทวนเป้าส่งออกปีนี้รับโตต่ำกว่าร้อยละ 3.5

3. สิงคโปร์เผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดฮวบต่ำสุดในรอบ 12 เดือน

1. พาณิชย์เผยส่งออก ส.ค.หดตัวร้อยละ -7.4 และนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.17
  • นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค.57 หดตัวร้อยละ 7.4 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 18,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านการนำเข้าหดตัวร้อยละ 14.17 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน มูลค่าอยู่ที่ 17,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วง 8 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.57) มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 150,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.69 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยเดือน ส.ค.57 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวในสินค้ากลุ่มทองคำที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 92.9 และน้ำมันปิโตรเลียมหดตัวร้อยละ -18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา ยานยนต์และชิ้นส่วนที่หดตัวที่ร้อยละ -23.3 และ -8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อดูรายตลาดจะพบว่า ตลาดที่หดตัวมาก ได้แก่ จีนและออสเตรเลีย สะท้อนถึงการส่งออกในไตรมาสที่ 3 มีแนวโน้มกลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากที่ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ -4.2 ในขณะที่มูลค่านำเข้าในเดือน ส.ค. 57 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 นับจากเดือน ก.ค. 56 ในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ -14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.5 - 2.5) (ณ ก.ค. 57)
2. พาณิชย์ทบทวนเป้าส่งออกปีนี้รับโตต่ำกว่าร้อยละ 3.5
  • นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวยอมรับว่าการส่งออกในปีนี้คงจะเติบโตไม่ถึงตามเป้าหมายที่ร้อยละ 3.5 โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 0.5 - 1.0 จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ที่ร้อยละ 0 เนื่องจากช่วงที่เหลือของปีนี้การส่งออกไม่ได้ดีขึ้น ซึ่งมีสาเหตุจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยของ สศค. ครั้งล่าสุดเมื่อ เดือน ก.ค. 57 ที่ผ่านมา สศค. คาดว่าทั้งปี 57 การส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 อย่างไรก็ตาม ใน การคาดการณ์ครั้งต่อไปในเดือน ต.ค. นี้ คาดว่าจะมีการปรับลดการขยายตัวของการส่งออกสินค้าลง เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 57 ถึงปัจจุบันมีปัจจัยลบต่อการส่งออกสินค้าไทยหลายประการ อาทิ สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับต้นปี ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 58 จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ทองคำ และน้ำมันปิโตรเลียม สะท้อนจากการคาดการณ์ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก โดย IMF ที่คาดว่า ในปีนี้ดัชนีฯ จะปรับลดลงร้อยละ -2.3 ในขณะที่ปี 58 ดัชนีฯ จะหดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -3.6 อีกทั้งปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจคู่ค้า เช่น จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปยังมีความไม่แน่นอนซึ่งส่งผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อสินค้า อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของไทย ยังเผชิญปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันในสินค้าบางรายการอีกด้วย เช่น สินค้าส่งออกยานยนต์ บริษัทต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงไม่ย้ายฐานการผลิตจากไทย แต่ก็ไม่มีการขยายการลงทุน แต่กลับไปลงทุนในประเทศคู่แข่งอย่างประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
3. สิงคโปร์เผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดฮวบต่ำสุดในรอบ 12 เดือน
  • สำนักงานความเชื่อมั่นเชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมืองที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเกือบหยุดชะงัก และกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจในสิงคโปร์ ซึ่งฉุดดัชนี Business Optimism Index (BOI) ไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 10.79 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14.65 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง เนื่องจากความกังวลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ สะท้อนจาก GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.8 นอกจากนี้ การส่งออกที่หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -1.2 ในเดือน ส.ค. 57 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -1.6 อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 57 ซึ่งชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.2 รวมทั้งยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ