รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 1, 2014 11:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2557

Summary:

1. กบง.ไฟเขียวขึ้นราคา LPG-NGV

2. สศอ. เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี

3. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคของยูโรโซนในเดือน ก.ย. 57 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 99.9

1. กบง. ไฟเขียวขึ้นราคา LPG-NGV
  • ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคขนส่งในอัตรา 0.62 บาท/กิโลกรัม และราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) อีก 1 บาท/กิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.57)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ กบง. มีมติปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคขนส่ง และราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) นั้น จะส่งผลกระทบต่อการบริการภาคสาธารณะและค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับอัตราค่าบริการที่อาจปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสัดส่วนพลังงานและค่าโดยสารสาธารณะมีสัดส่วนในตระกร้าเงินเฟ้อถึงร้อยละ 11.40 และ 2.15 ตามลำดับ ซึ่งในเดือน ส.ค. 57 พบว่า อัตราในหมวดดังกล่าวขยายตัวร้อยละ 2.90 และ 0.11 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การปรับราคา LPG และ NGV เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.4 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 - 2.9) ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบและการเริ่มทยอยปรับขึ้นราคา เช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค. 57 เป็นต้นไป (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. สศอ. เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ส.ค. 57 หดตัว ร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เครื่องประดับ น้ำตาล การกลั่นน้ำมัน และเครื่องแต่งกาย ที่มีการปรับตัวลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า MPI ในเดือน ส.ค. 57 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -2.7 ต่อปี ส่งผลทำให้ 8 เดือนแรกของปี 57 MPI หดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปี สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตและดัชนีการส่งสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.29 และ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สะท้อนจาก MPI ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค. 57 ที่ร้อยละ 10.9 ต่อปี ตามการขยายตัวของดิจิตอลทีวี สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอาหารที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -27.1 และ -4.1 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์มาจากการลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ ประกอบกับปัจจัยฐานของปีก่อนที่มีการเร่งผลิตตามโครงการรถยนต์คันแรก
3. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคของยูโรโซนในเดือน ก.ย. 57 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 99.9
  • คณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคของยูโรโซนในเดือน ก.ย. 57 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 99.9 จากระดับ 100.6 ในเดือน ส.ค. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายของอีซีบีจะประชุมร่วมกันที่อิตาลี เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับแผนการซื้อสินทรัพย์ที่จะช่วยส่งเสริมสินเชื่อระยะยาวและการลดดอกเบี้ยลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคของยูโรโซน (ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจฯ) เป็นเครื่องชี้ความมั่นใจของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซน ในอนาคต โดยในเดือน ก.ย. 57 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจฯ อยู่ในระดับ 99.9 ปรับตัวลดลง -0.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การค้าปลีก และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง จากระดับ -10.0 -4.6 และ -5.3 ในเดือน ส.ค. 57 ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ -11.4 -7.2 และ -5.5 ในเดือน ก.ย. 57 ตามลำดับ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคบริการและภาคก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.1 และ -28.4 ในเดือน ส.ค. 57 ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 3.2 และ -27.7 ในเดือน ก.ย. 57 ตามลำดับ นอกจากนี้ หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจฯ รายประเทศพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจฯ ของสเปน และเนเธอร์แลนด์ยังคงปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.5 และ 100.9 ในเดือน ส.ค. 57 ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 104.0 และ 101.2 ในเดือน ก.ย. 57 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี คงจะต้องติดตามผลการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของอีซีบีว่าจะมีมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยโรโซนในอนาคต ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 57 จะขยายตัวได้ ร้อยละ 1.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ