รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 2, 2014 10:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2557

Summary:

1. ธนาคารโลกเตรียมปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ลง

2. ฟิทช์ฯ คงเรทติ้งไทย BBB+ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นบวก

3. IMF ชี้ประเทศพัฒนาแล้วเผชิญกับความเสี่ยงด้านกำลังซื้อที่อ่อนแอ

1. ธนาคารโลกเตรียมปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ลง
  • นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เตรียมปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย. 57 ที่ร้อยละ 2.5 โดยมีปัจจัยหลายตัวที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน ส.ค. 57 ยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าทั้งจากการบริโภค สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ในเดือน ส.ค. 57 ที่ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -41.2 และ -11.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกสินค้าและดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีการชะลอตัว และภาคการผลิตที่ชะลอลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร และเครื่องประดับเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 57)
2. ฟิทช์ฯ คงเรทติ้งไทย BBB+ ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นบวก
  • หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจโลก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ลอนดอน กล่าวว่า ฟิทช์ฯ ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ระดับ BBB+ แต่ยังต้องติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่ามาตรการที่ออกมาจะเป็นบวกต่อเครดิตของไทยมากกว่าลบ ทั้งนี้ ฟิทช์ฯ เห็นด้วยที่จะเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตามโครงการของรัฐบาล เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 58 เติบโตเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งทั้งเสถียรภาพภายในและภายนอกประเทศ สะท้อนจาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 9 เดือนแรกปี 57 ยังคงอยู่ในระดับที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำเช่นกันที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 46.9 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 ในขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 57 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 167.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 58 ขยายตัวเพิ่มขึ้นและช่วยสนับสนุนขีดความสามารถทางการแข่งขันระยะยาวของไทย
3. IMF ชี้ประเทศพัฒนาแล้วเผชิญกับความเสี่ยงด้านกำลังซื้อที่อ่อนแอ
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนประเทศพัฒนาแล้วว่ากำลังเผชิญกับกำลังซื้อที่อ่อนแอลงอย่างถาวร และเชื่อว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นนโยบายที่สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้โดยเฉพาะยูโรโซนที่นโยบายการเงินยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ต้องเผชิญกับการเติบโตที่เชื่องช้าและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ McKinsey ได้ประมาณการณ์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าควรอยู่ที่ 57 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยให้น้ำหนักกับการขนส่งมวลชนผ่านการพัฒนาถนน ระบบราง ท่าเรือ และการขนส่งทางอากาศสูงถึง 23.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศพัฒนาแล้วยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนโดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเปราะบางจากอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. 57 ที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.5 ของกำลังแรงงานรวม และอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. 57 ที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดซึ่งอาจส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในได้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนลดความร้อนแรงลงจากนโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและมีเสถียรภาพมากกว่าที่จะเติบโตในอัตราที่สูงเพียงอย่างเดียว สะท้อนจากยอดค้าปลีกในเดือน ส.ค. 57 ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเผชิญความท้าทายของการประกาศปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 8.0 โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 57 ที่ผ่านมา ขณะที่มีความต้องการให้ผู้บริโภคใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อผลักดันให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมานาน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่ามีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจน สะท้อนจากยอดค้าปลีกในเดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราว่างงานในเดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม ทั้งนี้ รูปแบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีความเชื่อมโยงกันย่อมส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ