รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13 - 17 ตุลาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 20, 2014 13:52 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในปีงบประมาณ 57 ได้จำนวน 2,073.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.1 จากปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน ก.ย.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.86 ล้านคน หดตัวร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนก.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -9.6
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ก.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกจีน เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.2
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขonปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อนหน้า
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

Indicator next week

Indicators             Forecast    Previous
Sep : TISI  (Index)      89.0        88.7
  • เนื่องจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะสามารถผลักดันนโยบายและมาตรการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ พบว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเงินลงทุนในเดือน ก.ย. 57 สูงถึง 176,300 ล้านบาท (สูงสุดในรอบปี) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน ก.ย.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.86 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (mo-m SA) โดยเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มเอเชียใต้ และแอฟริกาใต้ที่กลับมาขยายตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มอื่นๆ ยังคงหดตัว โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อาเซียน และยุโรป ทั้งนี้ ไตรมาสที่ 3/57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.85 ล้านคน ยังคงหดตัวร้อยละ -10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (q-o-q SA) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อสถานการณ์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในปีงบประมาณ 57 ได้จำนวน 2,073.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.1 จากปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 201.1 พันล้านบาท หรือร้อยละ -8.8 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษีฐานรายได้จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.5 จากปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -3.8 จากปีก่อน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -6.0 จากปีก่อน ตามการปรับลดอัตราภาษี และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 จากปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -3.5 จากปีก่อน ตามมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.4 จากปีก่อน ทั้งนี้ รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 11 เดือนแรกของปี งปม. 57 (ต.ค. 56 - ส.ค. 57) ได้จำนวน 1,881.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.3 จากปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนก.ย.57 มีมูลค่า 55.61 พันล้านบาท หรือขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.9 ตามการกลับมาขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ร้อยละ 2.8 จากเดือนก่อนที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -8.2 สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.1 เท่ากับเดือนก่อน ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกของปี 57 ที่ร้อยละ 16.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -13.6 (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 19.8 จากเดือนก่อนหน้า) เป็นผลมาจากการเร่งจัดทำภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ก่อนที่จะมีมาตรการภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 57 สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน ส.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนก.ย. 57 หดตัวร้อยละ -3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.2 ตามการลดลงของผลผลิตข้าว ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 สอดคล้องกับผลผลิตข้าวโพดและยางพาราที่ผลผลิตหดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และฝนตกชุกหนาแน่นในเขตภาคใต้ทำให้เกษตรกรกรีดยางพาราไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะไก่เนื้อ จากความต้องการที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องและไม่มีรายงานสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือนก.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.5ตามราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากอุปทานทั้งในประเทศและตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว สอดคล้องกับราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ตามอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตหลักอย่างเวียดนามและอินเดีย อย่างไรก็ดี ราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5.5 ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 57 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ก.ย. 57 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.7 (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -2.5 จากเดือนก่อนหน้า)บ่งชี้ถึงการลงทุนในการก่อสร้างยังคงชะลอตัวในปี 57 เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดที่ยังคงชะลอลง เช่นเดียวกับอุปทานที่ชะลอตัว สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติในการก่อสร้างรวมในเดือน ส.ค. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -20.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.7 เนื่องจากผู้ประกอบการมีระดับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะสามารถผลักดันนโยบายและมาตรการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ พบว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าเงินลงทุนในเดือน ก.ย. 57 สูงถึง 176,300 ล้านบาท (สูงสุดในรอบปี) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากขจัดผลทางฤดูกาล พบว่าหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อน โดยเป็นผลจากยอดขายรถยนต์ (สัดส่วนร้อยละ 21.6 ของยอดค้าปลีก) ที่หดตัวร้อยละ -0.8 จากเดือนก่อน ทั้งนี้ยอดค้าปลีกที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนจากเดือนก่อน ทำให้ตลาดกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเข้าซื้อสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ทำให้ ณ วันที่ 15 ต.ค. 57 (ตามเวลาสหรัฐฯ) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลง 5.2 bps มาที่ร้อยละ 2.092 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 4 เดือน ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาล พบว่าขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนเนื่องจากการผลิตสินค้าขั้นกลางประเภทที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ

China: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 9.4 ในเดือนก่อนหน้า และนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ โดยการส่งออกไปฮ่องกงและไต้หวันขยายตัวสูงเท่ากันถึงร้อยละ 34.0 มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 57 กลับมาขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าหมวดเหล็กและน้ำมันดิบที่เร่งขึ้นเป็นสำคัญ โดยมูลค่าการนำเข้าที่กลับมาขยายตัวในอัตราสูงส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 57 เกินดุลมูลค่า 30.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 49.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.0 ในเดือนก่อนหน้า และลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 53 จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ขยายตัวชะลอลงเป็นสำคัญ

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตสินค้าที่ลดลงเกือบทุกหมวด เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ เป็นต้น

Eurozone: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการลดลงในหมวดสินค้าทุนเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 หดตัวที่ร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 57 หดตัวที่ร้อยละ -4.4 ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ส.ค. 57 เกินดุล 9.2 พันล้านยูโร ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. 57 ที่ร้อยละ 0.4 สะท้อนความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่ยังคงมีอยู่สูงต่อเนื่อง

South Korea: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 1.3 แสนคน เพิ่มขึ้นจาก 1.0 แสนคนในเดือนก่อนหน้า

Singapore: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเท่ากับไตรมาสที่ 2 ปี 57 ทั้งนี้ ภาคการก่อสร้างขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.4 จากการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ลดปริมาณลงอย่างมาก ส่วนภาคการผลิตขยายตัวชะลอลงร้อยละ 1.4 โดยอุตสาหกรรมที่ยังเป็นแรงสนับสนุนหลักในไตรมาสนี้ คือ อุตสาหกรรมการผลิตสาขา ชีวการแพทย์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.9 จากธุรกิจบริการด้านการเงินและประกันภัยเป็นสำคัญ ส่วนยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากยอดขายเฟอร์นิเจอร์ที่หดตัวร้อยละ -10.4 ส่วนมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 57 หดตัวร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกน้ำมันที่หดตัวร้อยละ -14.2 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 57 หดตัวร้อยละ -5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.7 จากการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งที่หดตัวร้อยละ -12.0 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน ก.ย. 57 เกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

India: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 57 ขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากสินค้าอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 75 ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมรวม) หดตัวเร่งขึ้นร้อยละ -1.4 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาอาหารและราคาพลังงานที่ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 1.3 และ 3.5 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนเนื่องจากสินค้าวิศวกรรม (สาธารณูปโภค เคมีภัณฑ์ ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล) ที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 เป็นสำคัญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 26.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี 8 เดือน เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลนวราตรี (เทศกาลแห่งการบูชาและการเต้นรำ) และเทศกาลดุชเชห์รา (เทศกาลฉลองชัยชนะของความดีต่อความชั่วร้ายของศาสนาฮินดู) รวมถึงเป็นช่วงที่นิยมจัดงานแต่งงานของชาวอินเดียด้วย ทำให้การนำเข้าทองคำและแร่โลหะ (สัดส่วนร้อยละ 8.7 และ 1.9 ของการนำเข้ารวมเดือน ก.ย. 57) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 449.7 และ 105.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ การนำเข้าที่ขยายตัวในระดับสูง ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 57 ขาดดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

UK: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เป็นผลจากราคาสินค้าในหลายหมวดที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ และหมวดสินค้าและบริการเบ็ดเตล็ดที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อัตราว่างงาน เดือน ส.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 6.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 6.2 ในเดือนก่อน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้นประมาณ 2.0 ล้านคน

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์และในวันที่ 16 ต.ค. 57 ปิดลด ลงถึง 21.3 จุดที่ 1,526.15 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 39,189.25 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ดัชนีฯ ปรับลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เครื่องชี้เศรษฐกิจภาคการบริโภคเอกชนออกมาสวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด และกรีซอาจหยุดรับความช่วยเหลือ Bailout เร็วกว่าที่กำหนดทั้งที่เศรษฐกิจกรีซยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 16 ต.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 5,402.1 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีขึ้นไปปรับลดลง 4 - 16 bps เป็นไปในทิศทางเดียวกับ US Treasury จากความกังวลดังกล่าว ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนไปยังพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 16 ต.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 1,347.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 16 ต.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.24 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.42 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 16 ต.ค. 57 ปิดที่ 1,239.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,228.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ