รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2014 11:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. กสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0

2. พลังงานเล็งขึ้นภาษีดีเซลปีหน้า

3. ดรากีเร่ง ECB ขึ้นเงินเฟ้อ

1. กสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0
  • ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่า GDP ปี 58 จะเติบโตร้อยละ 3.0 - 4.0 จากความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งหลังปี 57 สะท้อนจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2-1.7 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของภาครัฐ โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะเป็นแรงส่งสำคัญให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่องในปี 58 และ 3) อุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 - 4.6)
2. พลังงานเล็งขึ้นภาษีดีเซลปีหน้า
  • นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลว่า จะทยอยปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตภายในปี 58 ซึ่งเป็นการโอนเงินมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ที่ 4.30 บาทต่อลิตร แล้วนำกลับไปปรับขึ้นเป็นภาษีสรรพสามิตแทน ซึ่งในที่สุดจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในระดับใกล้เคียงกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ส่วนราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี ก็ต้องปรับขึ้นเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 57 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.1 โดย สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบโลกในปี 58 ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทำให้คาดว่า ผลกระทบจะมีอยู่อย่างจำกัดทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 1.4 ภายใต้สมมติฐานดังนี้ 1) สถิติการใช้น้ำมันดีเซลในปี 56 มีสัดส่วนร้อยละ 45.8 ต่อการใช้พลังงานปิโตรเลียมทั้งหมด 2) สัดส่วนของการใช้น้ำมันดีเซลในภาคการขนส่งอยู่ที่ร้อยละ 82.8 3) หากปรับราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่เดือน ม.ค. 58 มาอยู่ที่ระดับ 34.29 บาทต่อลิตร จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 29.99 บาทต่อลิตรคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 ต่อปี และ 4) การปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลจะส่งผลกระทบทางตรงผ่านหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 25.5 ของตะกร้าเงินเฟ้อปีฐาน 54
3. ดรากีเร่ง ECB ขึ้นเงินเฟ้อ
  • นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ให้สัมภาษณ์ในการประชุม ณ กรุงแฟรงค์เฟิร์ต ในวันศุกร์ที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ECB จะเร่งทำมาตรการเพื่อเพิ่มระดับราคาโดยรวมและการคาดการณ์เงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้นในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป นายดรากีกล่าวว่าหากมาตรการที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้ผล ECB จะเพิ่มความแรงในการใช้มาตรการ และเพิ่มช่องทางการดำเนินนโยบายที่ใช้แทรกแซงมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินเฟ้อของยุโรปล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.0 ที่ตั้งไว้อยู่มาก ทั้งๆ ที่ ECB ได้ใช้ หลายมาตรการในการเพิ่มเงินเฟ้อมาโดยตลอด อาทิ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ การเข้าซื้อพันธบัตรและสินทรัพย์ต่างๆ เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ การให้สัมภาษณ์ของดรากีได้รับการตอบรับจากตลาดเงินตราต่างประเทศทันที โดยส่งผลให้เงิน ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 0.4 อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการออกมาตรการใหม่ที่มีประสิทธิผลยังไม่มีความแน่ชัด เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงของเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของยุโรปและ ECB ให้ความเห็นในทิศทางที่ไม่ได้สนับสนุนการกระตุ้นผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณมากนัก อีกทั้งราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งเป็นตัวกำหนดระดับราคาโลกก็ยังอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับต่ำในระยะสั้นถึงปานกลาง ส่งผลให้ ECB มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ