รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2014 13:37 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ต.ค. 57 ลดลงร้อยละ -4.0 จากปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ต.ค. 57 หดตัว ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวที่ร้อยละ -4.4
  • การเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ต.ค. 57 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 367.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด เดือน ต.ค. 57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -193.4 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 87.5
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือน ต.ค.57 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่นไตรมาส 3 ปี 57 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ยูโรโซนไตรมาส 3 ปี 57 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาส 3 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วง เดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดย HSBC เดือน พ.ย. 57 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด
  • มูลค่าส่งออกญี่ปุ่น ในเดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.6 มูลค่านำเข้า ในเดือน ต.ค. 57 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงญ เดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators          Forecast    Previous
Oct : MPI (%yoy)      -3.6        -3.9
  • จากมาตรการกระตุ้นแศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่คาดว่าสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งอาจมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่
Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศหดตัว โดยการบริโภคภาคเอกชน และการบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.2 และ 0.4 ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวครั้งแรกภายหลังจากที่ได้ลดลงติดต่อกันสี่ไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 ส่วนอุปสงค์ภายนอกประเทศหดตัวอีกครั้ง จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวร้อยละ -1.7 ขณะที่การนำเข้าสินค้าหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -0.8 ทั้งนี้หากพิจารณาด้านการผลิต พบว่าการผลิตสาขาเกษตร สาขาขนส่ง สื่อสาร โทรคมนาคม และสาขาการค้าปลีก ค้าส่งยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.7 3.7 และร้อยละ 0.6 ตามลำดับ ขณะที่การผลิตสาขาอุตสาหกรรม และก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.7 และร้อยละ -2.7 ตามลำดับ แต่เป็นการหดตัวที่ชะลอลง ส่วนสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.6 ตามการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในสามไตรมาสแรกของปี 57 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ต.ค. 57 ได้ทั้งสิ้น 171.5 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -4.0 จากปีก่อน แต่มากกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 โดยมีรายการสำคัญดังนี้ (1) ภาษี ฐานรายได้ จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -2.5 จากปีก่อน โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -1.4 จากปีก่อน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -3.8 จากปีก่อน ตามการปรับลดอัตราภาษี และ (2) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -0.3 จากปีก่อน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากปีก่อน สะท้อนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาษีจากการนำเข้าจัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -6.0 จากปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -4.2 จากปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือน ต.ค. 57 มีมูลค่า 57.38 พันล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ตามการลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -7.5 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 3.3 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 57 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ต.ค 57 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่เดือนก่อนขยายตัวร้อยละ 16.1 (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -8.6 จากเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ เนื่องจากมีการเร่งโอนที่ดินไปแล้วในช่วงเดือนก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากการเร่งจัดทำภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ก่อนที่จะมีมาตรการภาษีใหม่ เช่น ภาษีมรดก และภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 57 สอดคล้องกับข้อมูลพื้นที่รับอนุญาตการก่อสร้างใน กทม. ปริมณฑลและในเขตเทศบาลในเดือน ก.ย. 57 (ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน) ที่ หดตัวร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนต.ค. 57 ปีงปม. 58 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 367.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 344.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 330.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.7 (2) รายจ่ายลงทุน 14.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 449.6 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 60.8 พันล้านาท รายจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพ 46.2 พันล้านบาท เงินอุดหนุนทั่วไปของกระทรวงศึกษาธิการ 34.0 พันล้านบาท และรายจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 17.9 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 22.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.7 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 57 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -193.4 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 7.8 พันล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากรายรับจากการชดใช้เงินคงคลังจำนวน 42.0 พันล้านบาท การรับส่วนเพิ่ม (premium) จากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสุทธิจำนวน 2.2 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -185.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 15.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดหลังกู้ชดเชยการขาดดุล ขาดดุลเท่ากับ -169.8 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 87.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.1 เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ การค้าชายแดนยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การเร่งรัดแผนการลงทุนและการเบิกจ่ายถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยเดือนต.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.18 ล้านคน ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 12.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ภายในประเทศ โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนที่กลับมาขยายตัวสูงถึงร้อยละ 67.0 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเว้นค่าธรรมเนียม วีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน และการมีวันหยุดต่อเนื่องในวันชาติจีนในช่วงต้นเดือน
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -3.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจากมาตรการกระตุ้นแศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่คาดว่าสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งอาจมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อน (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวและยอดขายน้ำมันที่หดตัวเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ (สัดส่วนร้อยละ 21.6 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับ) ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.8 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)จากยอดสร้างคอนโดมีเนียมที่กลับมาหดตัวเป็นหลัก ใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากใบอนุญาตสร้างบ้านเดี่ยวที่เร่งขึ้น ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่เร่งขึ้น โดยราคากลางบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ 208,300 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนจากราคาบ้านเดี่ยวที่ลดลง

China: worsening economic trend

ราคาบ้าน เดือน ต.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยราคาบ้านใน 67 เมืองจาก 70 เมืองมีการหดตัว เพิ่มขึ้นจาก 58 เมืองในเดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดย HSBC เดือน พ.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน โดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิตอยู่ต่ำกว่าระดับไม่เปลี่ยนแปลงที่ 50.0 จุด เป็นครั้งแรกนับแต่เดือน พ.ค. 57

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 57 (ตัวเลขบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ -0.4 (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค ผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่องเป็นหลัก มูลค่าส่งออก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดในเอเชีย และสหรัฐฯ เป็นสำคัญ มูลค่านำเข้า เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 7.1 แสนล้านเยน ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 52.1 จุด โดยดัชนีฯ ยังคงสูงกว่า 50 จุดเป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกันสะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ยังขยายตัวได้ดี

Eurozone: improving economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 57 (เบื้องต้น) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเศรษฐกิจฝรั่งเศส กรีซ และสเปนขยายตัวเร่ง ขณะที่เยอรมนีชะลอตัว และอิตาลีหดตัว มูลค่าส่งออก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดสินค้า ขณะที่มูลค่านำเข้า เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์เป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 18.5 พันล้านยูโรดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 57 (เบื้องต้น) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าไปอยู่ที่ระดับ -11.6 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน พ.ย. 57 (เบื้องต้น)อยู่ที่ 51.4 จุด ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากดัชนีฯ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ที่อยู่ที่ระดับ 50.4 และ 51.3 จุด ตามลำดับ

Hong Kong: improving economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ผลจากการบริโภคภายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นสำคัญ ประกอบกับการส่งออกยังคงสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 57 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างาน เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 129,200 คน ลดลง 3,700 คน จากเดือนก่อนหน้า ทำให้มีผู้มีงานทำคิดเป็น 3,778,600 คน จากกำลังแรงงานรวม 3,907,800 คน โดยอัตราการว่างงานของฮ่องกงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำต่อเนื่อง สะท้อนตลาดแรงงานที่ยังคงมีเสถียรภาพในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการจ้างงานจากการชุมนุมประท้วงภายใต้แคมเปญ "Occupy Central" ซึ่งเริ่มต้นในช่วงปลายเดือน ก.ย. 57 อาจยังไม่สะท้อนในเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือน ต.ค. 57 เนื่องจากลักษณะของเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านแรงงานมักแสดงผลกระทบล่าช้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดที่พักอาศัยที่ยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาสินค้าในหมวดอื่นยังคงขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก

UK: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขิ้นจากระดับต่ำที่สุดที่ร้อยละ 1.2 ในเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 และ 6 พ.ย. 57 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 7 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยกรรมการ 2 รายเห็นควรให้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 เพื่อให้สอดรับกับการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อไป อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดในเดือน ก.ย. 57 ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินเห็นควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไป

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ต.ค. 57 หดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปประเทศคู้ค่าสำคัญที่หดตัวต่อเนื่องส่วนมูลค่านำเข้า เดือน ต.ค. 57 หดตัวเร่งขึ้นร้อยละ -5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดที่หดตัวเป็นสำคัญอนึ่งการนำเข้าที่หดตัวในระดับสูงกว่าการส่งออก ทำให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

India: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 57 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะราคาอาหาร ปรับลดลง

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐฯ สิงคโปร์ และฮ่องกงที่ขยายตัวได้ดีเป็นสำคัญ ส่วนมูลค่านำเข้า เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบที่ลดลงเป็นสำคัญส่งผลให้ดุลการค้าเดือนดังกล่าวเกินดุลมูลค่า 9.3 พันล้านริงกิต

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 20 พ.ย. 57 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,568.68 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 43,309 ล้านบาท โดยมีปัจจัยความผันผวนจากการที่ ECB ประกาศความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดยังคงกังวลว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 57 ที่ สศช. ประกาศตัวเลขเมื่อต้นสัปดาห์ ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 พ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,271.41 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่ปรับลดลง 0-6 bps โดยการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 และ 6 เดือนในช่วงกลางสัปดาห์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ หลังจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศจะยุบสภา และเลื่อนการปรับเพิ่ม VAT ไปจนถึง เม.ย. 60 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 พ.ย. 57 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 4,148.2 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 20 พ.ย. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.02 จากสัปดาห์ก่อน โดยเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับค่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.64 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 20 พ.ย. 57 ปิดที่ 1,192.00 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,184.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ