รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2014 11:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557

Summary:

1. โฆสิตมองอัตราดอกเบี้ยของไทยยังเหมาะสม แม้จีนหั่นลงกระตุ้นเศรษฐกิจ

2. พาณิชย์คุมเข้มตรวจสอบราคาสินค้า

3. สถาบันวิจัยคาดเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 7.4 ในปี 57

1. โฆสิตมองอัตราดอกเบี้ยของไทยยังเหมาะสม แม้จีนหั่นลงกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงกรณีที่จีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่า เป็นแนวทางหนึ่งในการดูแลเศรษฐกิจของจีนที่ทางการมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องดูแลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยของไทยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าจะมองว่าเศรษฐกิจแต่ละไตรมาสมีการฟื้นตัวได้ดีแล้วหรือไม่ และเหมาะสมกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันแล้วหรือไม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันมีการขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ เนื่องจากการดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่ทำให้เศรษฐกิจจีนลดความร้อนแรงลง ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของจีนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนนั้นอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยที่ไทยมีการส่งออกไปจีนเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงไม่มีการปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอีกสักระยะ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังไม่เป็นแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 57 ไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ต.ค. 57)
2. พาณิชย์คุมเข้มตรวจสอบราคาสินค้า
  • นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าในขณะนี้ ไม่พบราคาสูงผิดปกติแต่อย่างใดในทุกกลุ่มสินค้า เนื่องจากแรงกดดันต่อต้นทุนสินค้าทั้งราคาน้ำมัน และวัตถุดิบยังทรงตัว นอกจากนี้ มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนนี้ กำลังอยู่ระหว่างทยอยหารือกับผู้ประกอบการทุกกลุ่มสินค้าเพื่อขอต่อมาตรการออกไปอีก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เสถียรภาพด้านราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างเนื่อง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวลดลงอย่างเนื่อง ประกอบกับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน โดยข้อมูลล่าสุดเดือน ต.ค.57 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 และนอกจากนี้ หากมีการต่อมาตรการตรึงราคาสินค้าออกไปอีกก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สอดคล้องกับตัวเลข GDP ด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/57 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงในปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 1.2 - 1.7) คาดการณ์ ณ ต.ค.57
3. สถาบันวิจัยคาดเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 7.4 ในปี 57
  • สถาบันเพื่อการพัฒนาและกลยุทธ์แห่งชาติของมหาวิทยาลัยเหรินหมิน เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และดัชนีราคาผู้บริโภคจีน (CPI) มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.2 ทั้งนี้ สถาบันฯ คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีจีนจะชะลอตัวลงแตะร้อยละ 7.2 ในปี 58 ขณะที่ CPI จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเศรษฐกิจจีนใน ไตรมาสที่ 3 มีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซี่งอยู่ที่ร้อยละ 7.5 จากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่มีการขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง อีกทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์มีการ หดตัว สะท้อนจากราคาบ้าน เดือน ต.ค. 57 หดตัวร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์จีนที่รัดกุมขึ้น สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดย HSBC เดือน พ.ย. 57 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน นอกจากนี้ CPI ในไตรมาสที่ 3 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 57 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 7.3 ต่อปี (ณ ตุลาคม 57) อย่างไรก็ดี ทางการจีนก็ได้เริ่มออกมาตรการโดยเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่องในภาคการเงินและการประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดย่อม ซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ