รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 - 12 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 15, 2014 11:36 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 57 เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.38 ล้านล้านบาท
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,640.6 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 50.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.5 ของ GDP
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 68.8
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 3 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัว ร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ยูโรโซน ไตรมาส 3 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราว่างงาน สหรัฐฯ เดือน พ.ย. 57 ทรงตัวในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่ มูลค่าส่งออกขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมูลค่านำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.9
  • มูลค่าการส่งออก จีน เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลง ที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 57 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -6.7
  • อัตราว่างงาน ออสเตรเลีย เดือน พ.ย. 57 สูงสุดในรอบ 12 ปีที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อินโดนีเซีย เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 120.1 จุด ในขณะที่ ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม มาเลเซีย เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators             Forecast    Previous
Nov : TISI (%yoy)         88.0       87.5
  • จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งอาจมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่

Nov : Cement Sale (%yoy) -5.0 -5.7

  • ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายไปแล้วในปีก่อนหน้า ประกอบกับการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดยังคงทรงตัว
Economic Indicators: This Week
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 57 เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.38 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อและเงินฝากในเดือนดังกล่าวเริ่มขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 5.4 และ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และทำให้สถาบันการเงินเริ่มระดมทุนเพื่อเตรียมสภาพคล่อง สำหรับรองรับความต้องการสินเชื่อที่จะเพิ่มขึ้นต่อไป
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 57 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,640.6 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 50.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.5 ของ GDP โดยหนี้ของรัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ ลดลง 11.6 พันล้านบาท 3.4 พันล้านบาท 34.2 พันล้านบาท และ 1 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 98.0 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.6 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 68.8 ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 69.6 เนื่องจาก 1. ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่เต็มที่ ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ค่อยกล้าที่จับจ่ายใช้สอยมากนัก และ 2. ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคในชนบทลดลง อย่างไรก็ดี จากความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเม็ดเงินที่สนับสนุนเกษตรกร รวมถึงโครงการลงทุนซ่อมสร้างต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการจ้างงานของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงราคาน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ในประเทศปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลงไม่มากนัก
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 57 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวดีขึ้นเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 87.5 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่คาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีแนวโน้มการผลิตมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับยอดสั่งซื้อเสื้อกันหนาวในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งอาจมีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 57 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.7 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งซื้อขายไปแล้วในปีก่อนหน้า ประกอบกับการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุดยังคงทรงตัว

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ย. 57 เพิ่มขึ้น 321,000 ตำแหน่ง สูงสุดในรอบ 34 เดือนจากการจ้างงานภาคบริการธุรกิจ ค้าปลีก บริการสุขภาพ และการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้อัตราว่างงาน เดือน พ.ย. 57 ทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 5.8 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 77 เดือน ด้วยจำนวนผู้ว่างงานเพียง 9.1 ล้านคนโดยอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน พ.ย. 57 คงที่จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 62.8 ของวัยแรงงาน ส่วนรายได้เฉลี่ยภาคเอกชน เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 864.12 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ จากรายได้ของทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น ยกเว้นก่อสร้าง ด้านดุลการค้า เดือน ต.ค. 57 ขาดดุลลดลงที่ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่มูลค่าส่งออกขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและอาหารที่หดตัว ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.9 จากการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวเร่งขึ้น และการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชะลอลง ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อสินค้าด้านการขนส่งและเครื่องจักรที่กลับมาขยายตัว

China: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 11.6 ในเดือนก่อน จากการส่งออกไปฮ่องกงที่ชะลอลง หลังจากที่ขยายตัวสูงกว่าปกติในช่วง 2 เดือนก่อน ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลอมแปลงใบเสร็จการส่งออกเพื่อเคลื่อนย้ายเงินทุน ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 57 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -6.7 สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 57 เกินดุลเพิ่มขึ้นที่ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 ปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดที่ลดลงยกเว้นหมวดเครื่องนุ่งห่มและยา

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.5 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 37.4 จุด ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการผลิตสินค้าหมวดเครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องจักรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ และเชื้อเพลิงที่ยังคงขยายตัว

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาส 3 ปี 57 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)จากการหดตัวของการลงทุนรวมและการนำเข้า ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.05 ต่อปีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 57

Australia: worsening economic trend

อัตราว่างงาน เดือน พ.ย. 57 สูงสุดในรอบ 12 ปีที่ร้อยละ 6.3 ของกำลังแรงงานรวม จากการว่างงานแบบเต็มเวลาที่เพิ่มขึ้นมาก ถึงแม้ว่าการจ้างงานแบบไม่เต็มเวลาจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานลดลงมาที่ร้อยละ 64.5 ของวัยแรงงานก็ตาม

Indonesia: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 120.1 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศทางธุรกิจและการจ้างงานอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ลดลง ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายเครื่องใช้ในครัวเรือนและสินค้าวัฒนธรรมและนันทนาการที่หดตัว เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 57 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.75 ต่อปี

Malaysia: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากทุกภาคการผลิตที่ขยายได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคเหมืองแร่ที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Philippine: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 1 ปี จากราคาอาหารและค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่ลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการส่งออกไปญี่ปุ่นที่ชะลอลงลงและการส่งออกไปจีนและสิงคโปร์ที่หดตัว

South Korea: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 57 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังยุโรป ฮ่องกง และญี่ปุ่นที่หดตัวต่อเนื่องขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าหมวดพลังงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งโทรคมนาคมที่หดตัวส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนดังกล่าวเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอัตราการว่างงานเดือน พ.ย. 57 ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม จากร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อนหน้า

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.4 ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 57 เกินดุลลดลงที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 57 ลดลงมาที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าพลังงานและที่อยู่อาศัยที่ลดลง

UK: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน และสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากการลดราคาสินค้าในเทศกาล Black Friday ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 57 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตสินแร่ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ดุลการค้า เดือน ต.ค. 57 ขาดดุล 9.2 พันล้านปอนด์ ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนโดยมูลค่าส่งออก เดือน ต.ค. 57 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จาการส่งออกไปยูโรโซน (สัดส่วนร้อยละ 37.6 ของการส่งออกรวม) ที่กลับมาขยายตัว อีกทั้งการส่งออกแร่เงินไปยังอินเดียที่ขยายตัว มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 57 กลับมาหดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าน้ำมันที่ชะลอลง ผลจากการผลิตในประเทศในแถบทะเลเหนือที่เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 57 ธนาคารกลางสหราชอาณาจักรมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับลดลงต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 11 ธ.ค. 57 ดัชนีฯ ปิดช่วงเช้าที่ระดับ 1,526.92 จุด ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 58,373 ล้านบาท ผลจากการขายทำกำไรในกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งมีปัจจัยภายนอกจากการที่รัฐสภากรีซประกาศเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีให้เร็วขึ้น 2 เดือนมาเป็นวันที่ 17 ธ.ค. 57 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 9 ธ.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 1,756.96 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับลดลง เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 57 มีการประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 และ 6 เดือน และตั๋วเงินคลัง อายุ 1 เดือน และตั๋วสัญญาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้อายุ 6 เดือน อีกทั้งวันที่ 9 ธ.ค. 57 มีการประมูลพันธบัตรรุ่น Benchmark อายุ 15 ปี โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุน 1.36 1.76 1.33 1.76 และ 1.55 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8 - 9 ธ.ค. 57 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 427.5 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 10 ธ.ค. 57 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 32.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.30 จากสัปดาห์ก่อน สวนทางกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ยกเว้น ริงกิตมาเลเซีย และหยวน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.55 จากสัปดาห์ก่อน
  • ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 10 ธ.ค. 57 ปิดที่ 1,228.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,194.13 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ