รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 29, 2014 13:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2557

Summary:

1. ส่งออกเดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ 1.0

2. ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.0

3. ญี่ปุ่นอัดมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.5 ล้านล้านเยน

1. ส่งออกเดือน พ.ย. 57 หดตัวร้อยละ 1.0
  • นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าส่งออกไทยในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 18,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคายางพารา และน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับหลายตลาดที่เป็นคู่ค้าของไทยยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนการนำเข้าในเดือน พ.ย. 57 อยู่ที่ 18,646 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าไทยในเดือนนี้ขาดดุล 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เมื่อรวม 11 เดือน พบว่าการส่งออกไทยมีมูลค่า 209,188 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงที่ร้อยละ 0.42 แต่หากในเดือน ธ.ค. 57 การส่งออกมีมูลค่า 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป การส่งออกไทยทั้งปีจะกลับมาเป็นบวก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ การหดตัวของการส่งออกในเดือน พ.ย. 57 นั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก 1) ราคาสินค้าส่งออกหดตัวเร่งขึ้นร้อยละ -1.1 จากราคาสินค้าหมวดเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวและยางพารา และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเป็นหลักที่ หดตัวร้อยละ -10.1 และ -16.6 ตามลำดับ 2) ในช่วงปลายปีเป็นช่วงเทศกาล ทำให้มีวันทำการน้อย อย่างไรก็ตาม หากขจัดผลทางฤดูกาล การส่งออกยังหดตัวร้อยละ -3.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และ 3) ความต้องการของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีนชะลอลงมาก ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกในเดือนนี้ ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย สศค. คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 57 จะเติบโตได้ที่ร้อยละ 0.1
2. ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 4.0
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 57 และในปี 58 โดยเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ทีร้อยละ 1.5 ในขณะที่ในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.8 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งออกในปี 57 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -0.5 จากเดิมที่คาดว่าจะไม่ขยายตัวเลย และในปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัวลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจในปี 58 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6-4.6) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมการขนส่ง ในขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกัน จากการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 3.7 (ช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 3.2-4.2) ตามแนวโน้มการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว โดยจะขยายตัวร้อยละ 8.0 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.0-9.0) ขณะที่ ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 6.5 (ช่วงคาดการณ์ 5.5-7.5) เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ในตลาดโลกจะฟื้นตัวตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสำคัญ
3. ญี่ปุ่นอัดมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.5 ล้านล้านเยน
  • รัฐบาลใหม่ของนายชินโสะ อาเบะ ออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนเงิน 3.5 ล้านล้านเยน (หรือประมาณ 29 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย เงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันภัยพิบัติ การให้เช็คเงินโอนเพื่อซื้อสินค้า การอุดหนุนราคาพลังงานสำหรับผู้มีรายได้น้อย และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย มาตรการดังกล่าวจะมีแหล่งเงินมาจากรายได้จากภาษีและเงินกองทุนที่ยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายโดยไม่ได้กู้ยืมเพิ่มเติม รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่ามาตรการ ชุดนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในรายภูมิภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขายครั้งแรกในรอบ 17 ปี เมื่อช่วงต้นไตรมาสที่สองของญี่ปุ่นที่รุนแรงเกินคาดนั้นเป็นสาเหตุหลักให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องออกมาตรการกระตุ้นทั้งด้านการเงินผ่านการขยายฐานปริมาณเงิน และล่าสุดออกมาตรการด้านการคลังที่มาในรูปของการใช้จ่ายและเงินโอน นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเองยังได้เลื่อนการขึ้นภาษีการขายในรอบที่สองออกไปเป็นเวลา 18 เดือนเพื่อรอให้เศรษฐกิจกลับมาแข็งแรงมากพอที่จะรับผลกระทบดังกล่าวได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ท่าทีของนโยบายการคลังดังกล่าวอาจมีผลเสียต่อภาระหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจาก รัฐบาลมีแผนจะใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ไปพร้อมๆ กับการชะลอการเพิ่มรายได้ซึ่งจะทำให้ภาระทางการคลังจะสะสมพอกพูนยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากการที่ไม่สามารถจัดการกับภาระทางการคลังที่ฉุดรั้งเสถียรภาพของประเทศได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ