รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 21, 2015 15:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 มกราคม 2558

Summary:

1. หอการค้าไทย ประเมิน จีดีพีปี 58 โตร้อยละ 3.5-4.0

2. ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -12.53 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. GDP จีน ปี 57 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 24 ปี

1. หอการค้าไทย ประเมิน จีดีพีปี 58 โตร้อยละ 3.5-4.0
  • ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่าคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชนคาดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5-4.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องติดตามปัจจัยที่สำคัญ คืออัตราแลกเปลี่ยนที่ผัวผวนเร็วและราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 58 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6-4.6) โดยมีปัจจัยสนับสนุน 1) อุปสงค์ภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านคมนาคม 2 )การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ 3) มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐทั้งร่ายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน 4) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดแรงกดดันด้านราคาและเพิ่มกำลังซื้อ และ 5)อุปสงค์ภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน 1) การตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
2. ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ในเดือน ธ.ค. 57 หดตัวร้อยละ -12.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือนธ.ค.57 อยู่ที่ระดับ 136.5 หรือหดตัวร้อยละ -12.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดปศุสัตว์ ขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร อยู่ที่ 134.8 หรือหดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของผลิตมันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรดโรงงาน และสุกร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาคการเกษตรของไทย ได้รับปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน อาทิ 1) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะราคาข้าว และยางพารา ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาในปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -6.2 จากปี 56 2) สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว โดยในช่วงต้นปีประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้องงดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ขณะที่ในช่วงปลายปีกลับมีฝนตกชุกหนาแน่นในภาคใต้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์โรคระบาดในกุ้ง ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตเกษตรในปี 57 ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.0 จากปี 56 และ 3) ตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง (หักอัตราเงินเฟ้อชนบทแล้ว) หดตัวร้อยละ -8.3 จากปี 56 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโดยตรงต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในส่วนชนบท และจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศ
3. GDP จีน ปี 57 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 24 ปี
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงาน GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ +7.3 เช่นเดียวกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจจีน ในปี 57 ขยายตัวร้อยละ+7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ +7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ปี 33 ซึ่งขยายตัวร้อยละ +3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า 1) เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 ปี 57 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการลงทุนที่ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นสำคัญ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากยอดค้าปลีกในไตรมาสที่ 4 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ +11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ค่อนข้างทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ +11.9 รวมทั้งภาคการส่งออกที่ยังสามารถสามารถขยายตัวในระดับสูงแม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงก็ตาม ดังปรากฏในมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ +8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.9 2) เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นผลจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจผลักดันการบริโภคภาคเอกชนให้มีบทบาทเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนมากขึ้น แทนการพึ่งพาการลงทุนเช่นในอดีต จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 57 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีนในปี 58 ลงเหลือร้อยละ +6.8 ต่อปี จากร้อยละ +7.1 ต่อปี และ3) จีนถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยการส่งออกไปยังประเทศจีนคิดเป็นร้อยละ 12.0 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของไทย จึงควรเฝ้าติดตามผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ