รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2015 11:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 มกราคม 2558

Summary:

1. TMB คาด กนง. คงดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 ตลอดครึ่งปีแรก

2. ยอดขอส่งเสริมการลงทุน BOI ปี 57 สูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี

3. ผู้เชี่ยวชาญชี้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างสมเหตุผล หลังโตรวดเร็วหลายสิบปี

1. TMB คาด กนง. คงดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 ตลอดครึ่งปีแรก
  • นายเบญรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 ม.ค.58 กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังเป็นระดับที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตได้ในระดับที่ดี อีกทั้งในแรงกดดันของเงินเฟ้อและภาวะหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กนง. น่าจะยังคงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุม กนง. ในวันที่ 28 ม.ค. นี้ เนื่องจากเป็นระดับที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ กอปรกับยังไม่มีแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กนง. อาจมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้หากมีปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ในการประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ของปี 57 และ 58 โดย สศค. ที่จะทำการแถลงข่าวในวันที่ 29 ม.ค. นี้ ตั้งอยู่ในสมมติฐานว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้งปี 57 และปี 58 จะคงที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.00 ต่อปี
2. ยอดขอส่งเสริมการลงทุน BOI ปี 57 สูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี
  • นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผย ถึงสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 57 ที่ผ่านมาว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 3,469 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2,192,700 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับการขอรับส่งเสริมในปี 56 พบว่ามีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุดอันดับหนึ่ง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีจำนวน 799 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 822,162 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าเงินลงทุนของยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 57 ที่สูงสุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งอนุมัติคำขออนุมัติโครงการที่ตกค้างตั้งแต่ปลายปี 56 ประกอบกับการปรับลดระยะเวลาการพิจารณาใบอนุญาตประกอบโรงงาน (รง.4) จาก 90 วันเหลือเพียง 30 วันในทุกกรณี ที่สอดคล้องตามนโยบายของ คสช. นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการเร่งยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเร็วขึ้น เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเดิม ก่อนที่นโยบายใหม่ที่สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมบางกลุ่มลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลุ่มเคมี ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุด อันดับ 1. เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 2. เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก 3. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ และ 4. กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตรตามลำดับสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI: Foreign direct investment) ในช่วง 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย. 57) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 816 โครงการ เงินลงทุนรวม 434,351 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายโครงการ 529 โครงการ และเป็นโครงการใหม่ 287 โครงการ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมเป็นอันดับต้นๆ คือนักลงทุนจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป ตามลำดับ
3. ผู้เชี่ยวชาญชี้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างสมเหตุผล หลังโตรวดเร็วหลายสิบปี
  • นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนกล่าวว่า จีนกำลังเข้าสู่สถานะสมดุลยภาพใหม่ และกำลังวางยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในปี 58 สอดคล้องกับนายอดัม โพเซน ประธานสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วมาหลายสิบปี การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการกำหนดเป้าหมายการขยายตัวที่ต่ำลงของจีนจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพื่อที่จะก้าวหน้าอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น บนแนวทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวในกรอบร้อยละ 6.5-7 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และคาดว่าจีนจะยังคงมีส่วนสำคัญต่อการลงทุนทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP จีนปี 57 ขยายตัวร้อยละ 7.4 ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี จากการบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะขยายตัวในระดับนี้ไปอีกซักระยะ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (HSBC/Markit) เดือน ม.ค. 58 ที่อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 จุด เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ชะลอลง รวมทั้งเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอลงของภาคอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย โดย สศค. คาดว่าปี 58 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 (ประมาณการ ณ ต.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ