รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 มกราคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 29, 2015 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มกราคม 2558

Summary:

1. กนง.ประกาศคงดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 ต่อปี

2. บริษัทปูนซิเมนต์ไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 สามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 4.0 ต่อปี

3. ธนาคารกลางสิงคโปร์ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

1. กนง.ประกาศคงดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 ต่อปี
  • เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 58 ว่าคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.00 ต่อปี ของ กนง. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 57 สะท้อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงทรงตัว จากข้อมูลล่าสุดเดือน ธ.ค. 57 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.6 สะท้อนถึงแรงกดดันทางด้านราคาสินค้าภายในประเทศที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวถือว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกเมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 58 อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 57 )
2. บริษัทปูนซิเมนต์ไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 58 สามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 4.0 ต่อปี
  • นายกานต์ ตระกูลฮุน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า บริษัทประเมินเศรษฐกิจไทยปี 58 จะเติบโตได้ระดับร้อยละ 4 ต่อปี โดยราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุน รวมถึงโครงการจากภาครัฐก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศในปีนี้ ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศปีนี้จะเติบโตร้อยละ 6 จากปีก่อนที่อยู่ราว 40 ล้านตัน โดยในจำนวนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนของ SCC ร้อยละ 40 ซึ่งมองว่าในครึ่งปีหลังจะมีโครงการลงทุนของภาครัฐเข้ามาช่วยเพิ่มดีมานด์การใช้ปูนซิเมนต์ ขณะที่ดีมานด์ปกติก็น่าจะยังคงเติบโต โดยเฉพาะดีมานด์จากต่างจังหวัด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 57 โดยจะได้แรงสนับสนุนจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายที่ส่งผลดีต่อบรรยากาศการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นขึ้นในปี 58 ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย ขณะที่ทางด้านเสถียรภาพไทยยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง สะท้อนจากการว่างงานและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า ซึ่งจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ทั้งนี้ สศค.จะได้ประกาศตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 วันนี้ เวลา 14.30 น.
3. ธนาคารกลางสิงคโปร์ประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
  • ธนาคารกลางสิงคโปร์ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยระบุว่า ธนาคารกลางจะปรับลดช่วงการซื้อขายสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ยังปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 - 1.5 ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2-3 ขณะที่ ตัวเลขคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับลดลงเหลือร้อยละ -0.5-0.5 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.5-1.5 ทั้งนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ถือเป็นธนาคารกลางแห่งที่ 9 ที่ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินในเดือนนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินครั้งใหญ่ ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางเดนมาร์ค และธนาคารกลางอินเดีย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ ถือเป็นมาตรการการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 4 หดตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย GDP ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ที่ตั้งเป้าไว้ที่ ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการผลิตในไตรมาสที่ 4 ลดลงร้อยละ -2.0 จากเดิมที่คาดว่า จะการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสที่ 3 ส่วนการเติบโตด้านการก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ชะลอลงจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัวร้อยละ1.3 ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจที่ดิ่งลงในช่วงไตรมาสหลัง เนื่องมาจากการปัญหาการหดตัวด้านการส่งออก อุปกรณ์ก่อสร้างและอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ