รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2015 13:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 มีนาคม 2558

Summary:

1. ธปท.จ่อทบทวนเป้าส่งออก

2. จีนเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตขยับขึ้นแตะ 49.9 ในเดือน ก.พ. 58

3. แท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ร่วง 12 สัปดาห์ติดต่อกัน

1. ธปท.จ่อทบทวนเป้าส่งออก

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล และทบทวนตัวเลขส่งออกปี 2558 ใหม่ หลังจากเดือน ม.ค.2558 การส่งออกมีมูลค่า 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ และอุปสงค์จากกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงยุโรปที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) ไปยังยุโรป โดยปี 58 ธปท.คาดการณ์ว่าตัวเลขส่งออกจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1

          สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวของการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ม.ค. 58 ที่ร้อยละ -3.5 ตามระบบกรมศุลฯ หรือ -2.6 ตามระบบดุลการชำระเงินนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของราคาน้ำมันสำเร็จรูป และการลดลงของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และไก่แปรรูป ที่หดตัวร้อยละ          -13.0 -40.6 -12.1 และ -6.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักของไทยซึ่งประกอบไปด้วย จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน มีการหดตัวที่ร้อยละ   -19.7 -7.5 -5.0 และ-0.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ จากประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 58 สศค. คาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 58 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.4

2. จีนเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตขยับขึ้นแตะ 49.9 ในเดือน ก.พ. 58

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) และสหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีน ขยับขึ้นสู่ระดับ 49.9 ในเดือนก.พ. 58 จากระดับ 49.8 ในเดือนม.ค. 58 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยอยู่ที่ 53.9 ในเดือนก.พ. 58 จากระดับ 53.7 ในเดือนก่อนหน้า

สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี PMI ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการขยายตัวด้านอุปทาน และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวได้ในไตรมาส 1/58 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 58 ที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ล่าสุดธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ลดลงสู่ ร้อยละ 5.35 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปี ลดลงสู่ร้อยละ 2.50 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ดี ความซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)

3. แท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ร่วง 12 สัปดาห์ติดต่อกัน

ข้อมูลจำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ สัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงอีกจำนวน 33 แท่น นับเป็นการลดลง 12 สัปดาห์ติดต่อกัน คิดเป็นการลดลงแล้วร้อยละ 39 จากเดือน ต.ค. 57 ทำให้จำนวนแท่นขุดเจาะรวมในประเทศลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1,000 เป็นครั้งแรก โดยมีจำนวนคงเหลือทั้งสิ้น 986 แท่น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 58 สามารถปิดเป็นบวกได้เป็นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 57 โดยราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเดือน เม.ย. 58 ปรับเพิ่มขึ้น 1.59 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.3 มาอยู่ที่ 49.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์เดือนเดียวกัน ปรับเพิ่มขึ้น 3.90 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 16.0 มาอยู่ที่ 62.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักในการผลักดันราคาน้ำมันดิบให้ฟื้นตัวในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา คือ จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ลดลงติดต่อกันมาโดยตลอด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ มีปัจจัยสนับสนุนพิเศษ คือ การชะงักของปริมาณการผลิตและส่งออกในอิรักและลิเบียในช่วงเดือนที่ผ่านมาที่ส่งผลให้เกิดการตึงตัวของอุปทานในแถบเมดิเตอร์เรเนียน รวมถึงยังมีการปิดตัวชั่วคราวของแท่นผลิตน้ำมันในเขตทะเลเหนือ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งเป็นน้ำมันที่ประเทศไทยบริโภคมีทิศทางรายเดือนสอดคล้องกับราคาน้ำมันอีก 2 ประเภท โดยราคาเฉลี่ยเดือน ก.พ. 58 ของน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ระดับ 54.71 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 จากเดือนก่อนหน้าซึ่งยังคงอยู่ในทิศทางที่ สศค. คาดการณ์ ซึ่งจะทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปี 58 ของน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าราคาน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ