รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 มีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2015 11:48 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2558

Summary:

1. ปธน.จีนชี้เศรษฐกิจประเทศมีความยืดหยุ่นและศักยภาพสูง

2. เยลเลน เผยเฟดเล็งเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยทีละน้อยปีนี้

3. ญี่ปุ่นเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. 58 ปรับตัวลงร้อยละ3.4

1. ปธน.จีนชี้เศรษฐกิจประเทศมีความยืดหยุ่นและศักยภาพสูง
  • ประธานาธิบดีจีน กล่าวในวันนี้ว่า เศรษฐกิจจีนมีความยืดหยุ่นและศักยภาพสูง ซึ่งเปิดทางให้รัฐบาลสามารถใช้เครื่องมือนโยบายรูปแบบต่างๆ ได้ โดยเขากล่าวว่า การขยายตัวที่ราวร้อยละ 7 นั้น ค่อนข้าง น่าประทับใจ และอาจจะสร้างแรงกระตุ้นได้มากกว่าการขยายตัวที่ระดับตัวเลขสองหลักในปีที่ผ่านๆมา เขากล่าวต่อไปว่า จีนกำลังเปลี่ยนจากการขยายตัวด้วยความเร็วสูงไปเป็นการขยายตัวในอัตราเร็วปานกลางถึงเร็วสูง จากการมุ่งเน้นที่ขนาดและความเร็วไปเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นคุณภาพและประสิทธิภาพ และจากที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนในภาคการผลิตไปเป็นขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เขากล่าวเพิ่มเติมว่าผลิตภาพแรงงานของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และความเข้มข้นของการใช้พลังงานลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบรายปี สัดส่วนของการบริโภคภายในประเทศต่อจีดีพีปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคบริการขยายตัวในอัตราเร็วขึ้น ขณะที่คุณภาพและประสิทธิภาพของเศรษฐกิจยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ทางจีนได้มีแนวนโยบายใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจะมีการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงเพื่อป้องกันการเกิดภาวะฟองสบู่ โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงลดการพึ่งพาการส่งออกและการนำเข้า หันมาส่งเสริมการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศ เพื่อที่จะลดผลกระทบจากภาคต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนได้ ซึ่งการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศของจีน รวมถึงการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนนี้ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับหนึ่ง โดยจากตัวเลขล่าสุดในช่วงสองเดือนแรกของปี 58 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศจีนหดตัวถึงร้อยละ -17.4 จากการหดตัวของการส่งออกสินค้าประเภทยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกในภาพรวมของปี 58 จะขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.4 (ประมาณการ ณ เดือนม.ค. โดยจะมีการปรับปรุงประมาณการใหม่ในเดือนเม.ย. ที่จะถึงนี้)
2. เยลเลน เผยเฟดเล็งเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยทีละน้อยปีนี้
  • เจเน็ท เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผย เฟดคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะเกิดขึ้นในช่วงต่อไปของปีนี้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นทีละน้อย จากปัจจุบันที่ร้อยละ 0-0.25 นอกจากนี้ นางเยลเลนได้กล่าวว่า เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้นยังมาไม่ถึง แต่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปีนี้ อย่างไรก็ดี เฟดจะต้องมั่นใจก่อนว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับร้อยละ 2 ก่อนที่จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินเฟ้อเดือน ก.พ. 58 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบร้อยละ -0.1 แสดงถึงสัญญาณบ่งชี้อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถปรับขึ้นได้ถึงร้อยละ 2 นอกจากนี้เครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/58 ส่งสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิต รถยนต์และเครื่องมือเครื่องจักรที่ชะลอตัว นอกจากนี้ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงมาที่ ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจากแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) นั้น คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดการเงินโลก และอาจส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศอาจลดลงได้ อย่างไรก็ดี พายุหิมะที่รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 58 อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศอีกทางหนึ่ง
3. ญี่ปุ่นเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. 58 ปรับตัวลงร้อยละ3.4
  • กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ปรับตัวลง 3.4% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีการขนส่งในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลงร้อยละ 3.4 แตะที่ 100.2 และดัชนีสต็อกสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมขยับขึ้นร้อยละ 0.5 แตะที่ 111.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงนั้น สะท้อนถึงการขยายตัวในฝั่งอุปทานที่ยังไม่ดีนัก สอดคล้องกับส่วนยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 58 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดเครื่องจักรในครัวเรือนที่หดตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สะท้อนจากมูลค่าส่งออก เดือน ก.พ. 58 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 58 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารและค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้การว่างงาน เดือน ก.พ. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวมลดลงจากร้อยละ 3.6 ในเดือนก่อน อีกทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/58 อาจจะดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ