รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2015 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 เมษายน 2558

Summary:

1. คณะกรรมการค่าจ้างมีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาท จนถึงสิ้นปี 2558

2. ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี

3. ยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

1. คณะกรรมการค่าจ้างมีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาท จนถึงสิ้นปี 2558
  • นายนครศิลปอาชาปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างเปิดเผยว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่วันละ 300 บาทไปจนถึงสิ้นปี 2558 ส่วนการปรับค่าจ้างประจำปี 2559 ได้มีการเสนอรูปแบบที่หลากหลาย โดยคณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้งในเดือนพ.ค. 58เพื่อให้ได้ข้อสรุปรูปแบบที่จะใช้ปรับค่าจ้างและจะนำมาสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในรูปแบบของการจัดเวทีประชาพิจารณ์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหากพิจารณาในระดับมหภาค นับเป็นปัจจัยบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากค่าจ้างเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ซึ่งหากคงไว้ที่ระดับ 300 บาทเช่นในปัจจุบัน จะทำให้การดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจมีความต่อเนื่อง และการประกาศอย่างชัดเจนของกระทรวงแรงงานจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนธุรกิจในระยะกลางได้ โดยหากพิจารณาร่วมกับสถานการณ์ในตลาดแรงงานจะพบว่า อัตราว่างงานของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดเสถียรภาพภายในประเทศ โดยในเดือน มี.ค. 58 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 378,100 คน
2.ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี
  • เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 58 การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือนเม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปีภายหลังการปรับลด 25 bps.ในเดือนก่อนหน้าซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากความกังวลด้านสินเชื่อบ้านที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจเกาหลีใต้ล่าสุดยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากสัญญาณด้านการบริโภคภาคเอกชนและภาคการส่งออกที่ชะลอลงต่อเนื่องบ่งชี้จากยอดค้าปลีกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 58 ที่หดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและมูลค่าการส่งออกในไตรมาส 1 ปี 58 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนโดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ต้นทุนการบริโภคและลงทุนในประเทศปรับตัวลดลงและเป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไปเนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้มีการบริโภคภาคเอกชนเป็นสัดส่วนที่สำคัญร้อยละ 50.4 ของGDP (ข้อมูลปี 57) ในขณะที่เงินวอนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าตามเงินทุนที่ไหลออกคาดว่าจะเป็นปัจจัยช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกเกาหลีใต้เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 58 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 (คาดการณ์ ณ เดือน ม.ค. 58)
3.ยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สำนักงานสถิติเยอรมนีเผยยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือนก.พ. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขณะที่ยอดนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 19.2 พันล้านยูโรทั้งนี้ยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปยังประเทศนอกเขตยูโรโซนเป็นสำคัญโดยขยายตัวถึงร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเยอรมนีได้รับอานิสงส์จากการ อ่อนค่าของเงินยูโรที่อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศมาตรการ ผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในเดือน ม.ค. 58 ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นสัญญาณบ่งชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยูโรโซนสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ของเยอรมนีในเดือนก.พ. ที่อยู่ที่ 51.1 จุดและด้วยดัชนี้ฯที่ปรับ เพิ่มสูงขึ้นในเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ 52.8 จุดจึงคาดว่ายอดการส่งออกในเดือนมี.ค. จะยังขยายตัวได้ดีทั้งนี้ตลาดส่งออกหลักของเยอรมนีได้แก่ฝรั่งเศสสหรัฐอเมริกาอังกฤษจีน และเนเทอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี การนำเข้าจากประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่ขยายตัวเพียง ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซน ไม่มากนัก

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ