รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 16, 2015 11:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 เมษายน 2558

Summary:

1. กระทรวงพลังงานรายงานสถานการณ์หยุดซ่อมแหล่งก๊าซในเมียนมาร์

2. ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามความหมายทางเศรษฐศาสตร์

3. IMF ยินดีร่วมมือกับ AIIB ชี้เป็นแนวคิดริเริ่มที่จะปรับโฉมเศรษฐกิจโลก

1. กระทรวงพลังงานรายงานสถานการณ์หยุดซ่อมแหล่งก๊าซในเมียนมาร์
  • กระทรวงพลังงาน รายงานความคืบหน้าของการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของแหล่งก๊าซธรรมชาติเมียนมาร์ ณ วันที่ 14 เม.ย. 58 โดยแหล่งเยตากุน ปิดซ่อมบำรุงวันที่ 10-19 เม.ย. 58 ซึ่งได้ซ่อมบำรุงแล้วคิดเป็นร้อยละ 58.1 มากกว่าแผนที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 57.6 และแหล่งยาดานาปิดซ่อมบำรุงวันที่ 11-19 เม.ย. 58 ซึ่งได้ซ่อมบำรุงแล้วคิดเป็นร้อยละ 61.0 และสอดคล้องกับแผนที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 61.0 ทั้งนี้ คาดว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งสองแหล่งจะสามารถกลับมาจ่ายก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ระบบได้ตามกำหนด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความมั่นคงทางพลังงานมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและของประเทศไทย โดยการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของไทยในปี 56 เท่ากับ2,001 เทียบเท่ากันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากปีก่อน และมีมูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17.6 ของGDP โดยมูลค่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปมากที่สุดประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.9 ของมูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย รองลงมา ได้แก่ มูลค่าการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติประมาณ 0.5 และ 0.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.7 และ 5.7 ของมูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ตามลำดับ ทั้งนี้ แหล่งพลังงานของไทยกว่าร้อยละ 44.0 มาจากก๊าซธรรมชาติ และส่วนมากใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ถึงร้อยละ 20.0 ของการใช้ในประเทศ และเป็นการนำเข้าจากแหล่งเยตากุนและยาดานา เมียนมาร์ถึงร้อยละ 16.0 ของการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยสามารถเพิ่มทางเลือกในการใช้พลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นของด้านเศรษฐกิจและพลังงาน
2. ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามความหมายทางเศรษฐศาสตร์
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามความหมายทางเศรษฐศาสตร์ เพราะภาวะเงินฝืดจะต้องมีภาวะอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกันนาน 6 เดือน แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศออกมาภาวะเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเพียง 3 เดือนเท่านั้น ขณะที่สินค้าหลายตัวราคาลดลง แต่ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแน่ แต่เป็นเชิงเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ คาดว่า ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะติดลบอีก รวมแล้วติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน และอาจต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินฝืด หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากอุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ผู้ผลิตลดการผลิตลง สามารถส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดี กรณีการลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เฉลี่ยไตรมาสที่ 1 ของปี 58 หดตัวร้อยละ -0.50 ต่อปี นั้น มีสาเหตุหลักจากปัจจัยทางด้านอุปทาน จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ มิได้มีสาเหตุมาจากอุปสงค์รวมในประเทศที่มีน้อยเกินไป สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังสามารถขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 58 แสดงถึงอุปสงค์ภายในประเทศโดยรวมที่ยังคงเติบโตได้ และยังคงเพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 - 1.4 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ม.ค. 58)
3.IMF ยินดีร่วมมือกับ AIIB ชี้เป็นแนวคิดริเริ่มที่จะปรับโฉมเศรษฐกิจโลก
  • ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงความเต็มใจในการร่วมมือกับสถาบันแห่งใหม่ อย่างธนาคารเพื่อการพัฒนาที่มีจีนเป็นแกนนำ เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ธนาคารโลก ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับพหุภาคีที่สำคัญได้แสดงความกระตือรือร้นในการร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) นั้น โดยของผู้อำนวยการ IMF อาจนำไปสู่การขยายความร่วมมือในกลุ่มองค์กรทางการเงินต่างๆ ที่มีอยู่แล้วและที่เริ่มก่อตั้งขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ IMF ให้ความสนใจร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ถือเป็นบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวดี และมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกันในภูมิภาค ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง AIIB มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย ซึ่งจะมีเงินทุนขั้นต้นที่ระดับประมาณ 50,000 ล้านหยวน (หรือ 8.1 พันล้านดอลลาร์) โดยได้รับการสนับสนุนการเงินจากประเทศผู้ก่อตั้ง โดยในปัจจุบันมี 27 ประเทศที่ได้แจ้งความจำนงเป็นสมาชิกก่อตั้ง AIIB อาทิเช่น ไทย อินเดีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาเซียน+3 และ+6 เป็นต้น ทั้งนี้ AIIB จะเริ่มเปิดดำเนินการในปลายปี 58 โดยกำหนดการรับสมัครประเทศก่อตั้งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค. 58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ