รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2015 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 เมษายน 2558

Summary:

1. รมว.พาณิชย์ นัดถกภาคเอกชนวันนี้ (21 เม.ย.58) หวังเร่งส่งออกไทยฟื้นตัว

2. คลังเผยยอดหนี้สาธารณะสิ้น ก.พ.58 อยู่ที่ร้อยละ 46.83 ของ GDP

3. ECB ชี้เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณฟื้นตัวจากอานิสงส์ราคาน้ำมัน และค่าเงินยูโรอ่อนค่า

1. รมว.พาณิชย์ นัดถกภาคเอกชนวันนี้ (21 เม.ย.58) หวังเร่งส่งออกไทยฟื้นตัว
  • รมว.พาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมเพื่อเร่งรัดการส่งออก ร่วมกับภาคเอกชนใน 21 เม.ย.58 โดยภาคเอกชนประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.), สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สภาผู้ส่งออก) ซึ่งจะมีการรับฟังปัญหาและอุปสรรคของภาคเอกชน รวมทั้งร่วมประเมินสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกใหม่จากปัจจุบันที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 4.0 หลังจากที่หลายหน่วยงานเริ่มทยอยปรับลดเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 58 อยู่ที่ 34,478.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -17.7 ตามการหดตัวของยางพารา และข้าว เป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรก็ยังคงหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -2.5 จากอาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -1.7 ตามการหดตัวของเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 58 มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ -0.6 ถึง 3.4 คาดการณ์ ณ ม.ค.58) ซึ่งทาง สศค. จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย.58
2. คลังเผยยอดหนี้สาธารณะสิ้น ก.พ.58 อยู่ที่ร้อยละ 46.83 ของ GDP
  • นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะโฆษก สบน.เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 28 ก.พ.58 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,720,425.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.83 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 62,366.22 ล้านบาท สศค. วิเคราะห์ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะ 46.83 ของ GDP ถือว่ายังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในประเทศ 5,375,531.51 ล้านบาทหรือร้อยละ 93.97 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ซึ่งเป็นระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง นอกจากนี้หากแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน พบว่าส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว 5,561,395.38 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 97.22 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง โดยภาพรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังมีเสถียรภาพที่อยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 58 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 156.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า
3. ECB ชี้เศรษฐกิจยูโรโซนส่งสัญญาณฟื้นตัวจากอานิสงส์ราคาน้ำมัน และค่าเงินยูโรอ่อนค่า
  • นายอีวาลด์ โนวอทนี ประธานธนาคารกลางออสเตรีย และหนึ่งในกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยระหว่างการประชุมซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจยูโรโซนกำลังได้รับปัจจัยบวกจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน การอ่อนค่าของยูโร และการลงทุนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจของยุโรปจึงมีศักยภาพเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็คาดว่าจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากกการลดลงของราคาน้ำมันและการอ่อนค่าของเงินยูโร ส่งผลให้การส่งออกในเดือน ก.พ. 58 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศของกลุ่มยูโรโซนได้รับการกระตุ้นจากมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายและมาตรการเสริมสภาพคล่องโดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในเดือน ม.ค. 58 นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 54.2 จุด ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 54.0 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 11 เดือน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอยู่ที่ร้อยละ 11.3 ในเดือน ก.พ. 58 ซึ่งยังคงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ