รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2015 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 เมษายน 2558

Summary:

1. ณรงค์ชัย'สารภาพผลงาน 6 เดือนสอบตก 2 เรื่อง รอจังหวะปรับขึ้น NGV อีก

2. ยอดคำสั่งซื้อสินค้าทุนสหรัฐฯ ร่วง 7 เดือนติดต่อกัน

3. เศรษฐกิจยุโรปเดือนเมษาชะลอตัว

1. ณรงค์ชัย'สารภาพผลงาน 6 เดือนสอบตก 2 เรื่อง รอจังหวะปรับขึ้น NGV อีก
  • รมว.พลังงานกล่าวว่าผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนถือเป็นที่น่าพอใจ แต่สอบตกอยู่สองเรื่อง คือ การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ที่ต้องประกาศยกเลิกไป และ เรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ หรือ (NGV) ยังต้องชะลอออกไปก่อนซึ่งจากแผนเดิมต้องการให้ราคาอยู่ที่ 15 บาทต่อ กก. ส่วนเรื่องที่ดำเนินการแล้ว คือการปรับราคาต้นทุนก๊าซหุงต้ม(LPG) การปรับอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การแทรกแซงราคาพลังงานมีข้อดีคือ ประชาชนสามารถบริโภคพลังงาน

ได้ในราคาต่ำ ลดภาระค่าใช้จ่าย และยังมีเสถียรภาพสูง เมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง อย่างไรก็ดี การอุดหนุนและแทรกแซงราคาพลังงานย่อมส่งผลต่อภาระงบประมาณ และยากต่อการบริหารจัดการ เนื่องจากความผันผวนของราคาพลังงานโลก นอกจากนี้ ยังบิดเบือนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ไม่ประหยัดและมีแนวโน้มบริโภคพลังงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาระงบประมาณในอนาคตอย่างไรก็ตาม เราไม่สมารถปฏิเสธได้ว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ผ่านมา ทำให้ผลประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบน้อยลง เนื่องจากมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมากขึ้น ส่วนราคารถโดยสารก็ปรับขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคา NGV และ LPG ทำให้การลดลงของราคาน้ำมันดิบส่งผลไม่เต็มที่ต่อการลดรายจ่ายของประชาชน ซึ่งอาจเป็นหนึ่งตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผ่านการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน

2. ยอดคำสั่งซื้อสินค้าทุนสหรัฐฯ ร่วง 7 เดือนติดต่อกัน
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลคำสั่งซื้อสินค้าทุนหลักไม่รวมอาวุธและเครื่องบิน(Core capital goods orders) ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ยอดดังกล่าวปรับลดลงร้อยละ 0.5 นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยในเดือนก่อนหน้ายอดดังกล่าวปรับลดลงร้อยละ 2.2 ซึ่งนับเป็นการลดลงสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 56 ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสามารถสะท้อนถึงยอดแผนลงทุนธุรกิจ (Business investment spending plan) ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดลงอย่างต่อเนื่องของเครื่องชี้การลงทุนในสหรัฐฯ เป็นผลมาจากค่าเงินที่แข็งค่าของสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่ตกต่ำ โดยหากนับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้าสำคัญนั้นได้แข็งค่าขึ้นไปแล้วร้อยละ 12.1 จากผลของการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ การแข็งค่าขึ้นดังกล่าวส่งผลต่ออัตรากำไรส่งกลับของบริษัทที่ลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อนำมาลงทุนในประเทศ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ตกต่ำนั้นทำให้อุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐฯ อยู่ในขาลงเช่นกัน ทำให้บริษัทผู้ผลิตจำนวนมากลดการผลิตและแผนการลงทุนเพิ่มเติมลง การชะลอตัวของแผนการลงทุนโดยทั่วไปของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าลงกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไปเป็นช่วงปลายปีนี้หรือช้ากว่านั้น อย่างไรก็ตาม สศค. ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่ดีในภาพรวม โดยคาดการณ์ (ณ เดือน ม.ค. 58) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 58 นี้น่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4
3. เศรษฐกิจยุโรปเดือนเมษาชะลอตัว
  • ข้อมูลดัชนีผู้จัดการจัดซื้อ (Purchasing Managers Index) โดยรวมของยุโรปในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 53.5 ถือเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 54.0 (ค่าดัชนีที่มากกว่า 50 แสดงถึงการขยายตัว) โดยดัชนีภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 51.9 ชะลอลงจาก 52.2 และดัชนีด้านบริการอยู่ที่ 53.7 ชะลอลงจาก 54.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งค่าดัชนีรวมในเดือน เม.ย. ถือว่าต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 54.4 (ผลสำรวจโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวยังคงเป็นสัญญาณบวก อย่างไรก็ตามการชะลอลงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่ามาจากสาเหตุใดเป็นสำคัญ ซึ่งความเป็นไปได้มีหลายประการ เช่น ความกังวลต่อกรณีเศรษฐกิจกรีซที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ความไร้ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรป หรือเป็นเพียงการปรับฐานเล็กน้อยหลังจากการขยายตัวในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศค. ยังมองว่าเศรษฐกิจของยุโรปปีนี้ในภาพรวมน่าจะเป็นการฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า โดยคาดการณ์ (ณ เดือน ม.ค. 58) ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.9

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ