รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 เมษายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 28, 2015 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 เมษายน 2558

Summary:

1. บล.เอเชีย เวลท์ คาด กนง. ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย

2. ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ มี.ค. 58 อยู่ที่ 87.7 ต่ำสุดรอบ 5 เดือน

3. มาร์กิตเผยดัชนี PMI ภาคบริการสหรัฐร่วงสู่ระดับ 57.8 ในเดือน เม.ย. 58

1. บล.เอเชีย เวลท์ คาด กนง. ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย
  • นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ ประเมินว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพฤหัสที่ 29 เม.ย. นี้ จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเชื่อว่า คณะกรรมการฯ น่าจะยังคงรอดูผลของนโยบายทางการคลัง โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ที่คาดว่าจะเริ่มมีการลงทุนอย่างเต็มที่ในไตรมาส 2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในการประชุม ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 เม.ย. 58 ที่จะถึงนี้ คาดว่า กนง. จะยังไม่ปรับลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุม กนง. ครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 58 ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.75 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาฟื้นตัว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจทางด้านการบริโภคภาคเอกชน อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ หากปรับเพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และสัญญาณการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ที่จะส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน กอปรกับการปรับลดอัตราดอกเบี่ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้วในการประชุม กนง. ในครั้งก่อน จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่ทาง กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ การประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
2. ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตฯ มี.ค. 58 อยู่ที่ 87.7 ต่ำสุดรอบ 5 เดือน
  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากระดับ 88.9 ในเดือน ก.พ. 58 โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับไทยขาดการปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิตบวกกับความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ก็เป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ปรับลดลง ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 58 อยู่ที่ระดับ 89.6 สะท้อนถึงบรรยากาศของการดำเนินกิจการที่ไม่สดใสเท่าที่ควร
3.มาร์กิตเผยดัชนี PMI ภาคบริการสหรัฐร่วงสู่ระดับ 57.8 ในเดือน เม.ย. 58
  • บริษัทมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMl) เบื้องต้นสำหรับภาคบริการของสหรัฐ ร่วงลงสู่ระดับ 57.8 ในเดือนเม.ย. 58 จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.2 อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวมากกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ นอกจากนี้ การจ้างงานในอุตสาหกรรมบริการมีการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือนในเดือนเม.ย.58 โดยอยู่ที่ 55.4 เพิ่มขึ้นจาก 54.0 ในเดือนมี.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนี PMI ที่ยังอยู่ในระดับดีและการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเพียงเล็กน้อยที่ 591,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ก็ยังสะท้อนถึงภาคอุปทานที่ยังสามารถขยายตัวได้ นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชนก็เริ่มมีทิศทางที่ดี สะท้อนจาก ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.5 อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 58 ที่กลับมาลดลงที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลง ยังเป็นปัจจัยที่สามารถขับเคลื่อนการบริโภคภาคเอกชน และคาดว่าผลกระทบชั่วคราวของพายุหิมะที่รุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นปีจะเริ่มลดลงภายในช่วง 2-3 เดือนนี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ