รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 6, 2015 14:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2558

Summary:

1. กรมโรงงานเผยสรุปโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการเดือน เม.ย. 58

2. รัฐบาลสั่งตรึงดอกเบี้ยโรงรับจำนำถึงเดือนมิ.ย. 58

3. GDP อินโดนีเซีย ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. กรมโรงงานเผยสรุปโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการเดือนเม.ย. 58
  • กรมโรงงาน เปิดเผยสรุปโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการเดือนเม.ย.58 ซึ่งมีจำนวนโรงงานทั้งหมด 349 โรงงาน คิดเป็นเม็ดเงินการลงทุน 68,239.3 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 21,762 ล้านบาท ในเดือนมี.ค.58 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ร้อยละ +51.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากยอดสรุปโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการเดือนมี.ค.58 มียอดเงินลงทุน 21,762 ล้านบาท และเดือนเม.ย.58 อยู่ที่ 68,239.3 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ +112.9 และ +51.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ พบว่าเดือนเม.ย. 58 ในภาพรวมมีการขยายตัวในอัตราชะลอลงของเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของเม็ดเงินการลงทุนในหลายๆภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากสาเหตุของความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ.58 อยู่ที่ 88.9 และเดือนมี.ค. 87.7 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวมและยอดขายโดยรวม อย่างไรก็ดี เม็ดเงินการลงทุนเดือนเม.ย.58ในภูมิภาคตะวันออกส่งสัญญาณดี อยู่ที่ 54,332 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ +705.8 จากช่สวงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในจ.ชลบุรี และ จ.ระยอง คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกเดือนเม.ย. 58 เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตอาหารเป็นสำคัญ
2. รัฐบาลสั่งตรึงดอกเบี้ยโรงรับจำนำถึงเดือนมิ.ย. 58
  • ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายให้โรงรับจำนำในสังกัดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม คือ เงินต้นต่ำกว่า 5,000 บาท คิดดอกเบี้ย 50 สตางค์/เดือน เงินต้น 5,000 -10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 75 สตางค์/เดือน เงินต้น 10,001- 20,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1 บาท/เดือน และ 20,000 บาทขึ้นไป คิดดอกเบี้ย 1.25 บาท/เดือน ซึ่งอัตราดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าดอกเบี้ยรับจำนำที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 ทั้งนี้จะใช้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไปจนถึงเดือนมิ.ย. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การตรึงอัตราดอกเบี้ยโรงรับจำนำไว้ที่ระดับเดิมนั้น ถือได้ว่าเป็นมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาคครัวเรือน ในช่วงก่อนเปิดเทอมที่ผู้ปกครองจะมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังคงมีปัจจัยกดดันจาก 1. รายได้เกษตรกรที่ยังหดตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกปี 58 หดตัวร้อยละ -11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 2.หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/57 ต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 85.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 84.7 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 58 บริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 - 2.7) ประมาณการ ณ เดือน เม.ย.58
3. GDP อินโดนีเซีย ไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.01 ซึ่งนับเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 54 เป็นต้นมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 1 ปี 58 ขยายตัวในอัตราชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ปรับตัวลดลง สะท้อนจากการส่งออกสินค้าในช่วง 3 เดือนแรกปี 58 หดตัวร้อยละ -11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันภายในประเทศ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มชะลอตัวลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในปี 58 จะยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 5.5 จากปี 57 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 58) เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยผ่านทางด้านการส่งออก เนื่องจากอินโดนีเซียมีสัดส่วนร้อยละ 4.2 ของการส่งออกสินค้าไทยรวม

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ