รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 5 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 8, 2015 11:28 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย. 58 เกินดุล 1,113.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 58 คิดเป็นร้อยละ 43.5 ของ GDP
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 65.0
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ออสเตรเลีย ไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP อินเดีย ไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP เกาหลีใต้ ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicator next week

Indicators                Forecast   Previous
May: Cement Sale (%YOY)      -3.0      -3.3
  • ตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลงตามกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว
Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -1.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -1.0 ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ในรอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 58 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในเดือน พ.ค. 58 ที่หดตัวร้อยละ -13.6 ต่อปี เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบลดลงและราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลง
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน เม.ย. 58 เกินดุล 1,113.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,223.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงมาที่ 1,707.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อุปสงค์ของตลาดเอเชียต่อสินค้าส่งออกของไทยที่ชะลอลงตามสภาพเศรษฐกิจ และการถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกลุ่มประเทศยุโรป ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงมาที่ 594.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างประเทศในไทย ตามฤดูกาลส่งกลับกำไรของบริษัทญี่ปุ่น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 58 เกินดุล 9,351.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 58 มียอดคงค้าง 15.57 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยขยายตัวเร่งขึ้นทั้งในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และเมื่อจำแนกตามประเภทของสินเชื่อพบว่า เป็นผลจากการเร่งตัวขึ้นของทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 58 มียอดคงค้าง 16.75 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลจากการเร่งขึ้นของเงินฝากในธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ขณะที่เงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,775.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.5 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 45.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) (ร้อยละ 97.1 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 94.0 ของยอดหนี้สาธารณะ)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 65.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 66.0 ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาคการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังคงชะลอตัว
Economic Indicator: Next Week
  • ยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือน พ.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลงตามกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.2 จากไตรมาสก่อนต่อปี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีฯ นอกภาคเกษตรกรรมลดลงมาที่ 55.7 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อค้างรับที่ปรับลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 58 กลับมาหดตัวร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวเร่งขึ้นส่งผลให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 58 ขาดดุล 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากค่าขนส่งปรับลดลง

China: mixed signal

HSBC ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด สะท้อนการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ด้าน อย่างไรก็ตามHSBC ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน พ.ค. 58 ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 53.5 จุด สะท้อนภาคบริการที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง

Eurozone: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน พ.ค. 58 (final) อยู่ที่ระดับ 53.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีฯ ภาคภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ที่ระดับ 52.2 และ 53.8 จุด ตามลำดับ บ่งชี้ภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และอัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 11.1 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยอัตราว่างงานในอิตาลีและสเปนปรับลดลง ขณะที่ในเยอรมนีและฝรั่งเศสยังคงที่

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด สะท้อนกิจกรรมภาคการผลิตที่ปรับตัวอยู๋ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง

United Kingdom: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 52.0 และ ดัชนีฯ ภาคก่อสร้างอยู่ที่ระดับ 55.9 จุด สูงขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 56.5 จุด ลดลงเล็กน้อย บ่งชี้ภาคอุปทานที่แข็งแกร่ง

Australia: mixed signal

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออก เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -12.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 3.0 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

India: improving economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 ขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้น และเมื่อ 2 มิ.ย. 58 ธนาคารกลางอินเดียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี ถือเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในปี 58

Indonesia: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.1 จุดอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากอาหารสดและสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 112.8 จุด จากคาดการณ์เศรษฐกิจระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ดีขึ้น

Phillippines: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากราคาสินค้าทุกหมวดที่ปรับลดลง

Singapore: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.2 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และสินค้าส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน

Vietnam: mixed signal

HSBC ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 54.8 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

South Korea: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) หดตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ -10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับ HSBC ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

Taiwan: mixed signal

HSBC ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

Hong Kong: mixed signal

HSBC ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 47.6 จุด ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 58 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -2.2 จากสินค้าหมวดคงทนและอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นโดยยังคงต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด โดย ณ วันที่ 4 มิ.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,491 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 36,987.9 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนรายย่อยและสถาบันในประเทศ จากแรงซื้อกลับในหลักทรัพย์กลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้า และกลุ่มพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคานั้นในตลาดโลก ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 4 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,199.2 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ 1-22 bps จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ โดยตลาดจับตามองและคาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 10 มิ.ย. 58 นี้ อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 4 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 3,138.4 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 4 มิ.ย. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 33.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินยูโร และค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่สวนทางกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เยน หยวน วอนเกาหลี และริงกิตมาเลเซีย ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัวจากสัปดาห์ตลอดทั้งสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่ค่าเงินสกุลภูมิภาคโดยรวมอ่อนค่าและแข็งค่าโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดยแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.05 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ