รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 - 26 มิถุนายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2015 13:32 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 23,139 คัน หรือ คิดเป็นการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -24.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 32,387 คัน หรือหดตัวร้อยละ -19.7 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อเดือน สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันในเดือน พ.ค.58 ที่ยังคงหดตัวเช่นกัน โดยมียอดจำหน่ายอยู่ที่ 25,850 คัน หรือหดตัวที่ร้อยละ -21.6 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อเดือน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุด ในรอบ 12 เดือน เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความกังวลที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทย กรณีการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลแปรรูป อย่างไรก็ดีค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งออกของไทย
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 58 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.31 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 38.2 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลแล้ว โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย เป็นหลัก ขณะที่กลุ่มยุโรปและโอเชียเนียหดตัว ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้วทั้งสิ้น 12.45 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 24.7 ต่อปี สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างชาติ 592.9 แสนล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 25.1
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ค. 58 กลับมาขยายตัวที่ ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อเดือน ทำให้ 5 เดือนแรกของปี 58 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างยังคงชะลอตัว
  • การส่งออกในเดือน พ.ค. 58 มีมูลค่า 18,428.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.7 จากการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว ที่ร้อยละ -4.5 ตามการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ร้อยละ -1.9 และ -5.1 ตามลำดับ ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวเช่นเดียวกัน ที่ร้อยละ -11.7 อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 7 เดือนที่ร้อยละ 5.9 ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -4.2 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -1.7 และปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -3.4
  • การนำเข้าในเดือน พ.ค. 58 มีมูลค่า 16,012.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -20.0 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.8 จากการหดตัวของทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าเชื้อเพลิงที่หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -49.4 และสินค้าวัตถุดิบที่หดตัวร้อยละ -14.5 รวมถึงสินค้าทุนที่หดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -8.0 และ สินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัว ร้อยละ -2.6 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -9.5 และปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -11.6 จากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ค. 58 เกินดุล 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องซึ่งต่ำสุดในรอบ 11 เดือน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 58 ที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 12 เดือน อาจส่งผลให้คำสั่งซื้อภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้มีการผลิตเพื่อให้สอดรับกับคำสั่งซื้อภายนอกประเทศเพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาส 1 ปี 58 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ต่อปี (annualized qoq) ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.7 และร้อยละ -0.7 จากการประกาศครั้งก่อน ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากสินค้าทุกหมวดยกเว้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน เม.ย. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากราคาบ้านในภาคตะวันตกและแถบมิดเวสต์ ทีเพิ่มขึ้น ยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ 546 พันหลัง คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากยอดขายบ้านมือสองในภาคตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 58 (เบื้องต้น) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -5.6 จุด แม้สถานการณ์หนี้ของกรีซยังไม่คลี่คลาย เนื่องจากผู้บริโภคได้คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่เดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มิ.ย. 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ 54.1 จุด เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 53.6 จุด นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 49 เดือน โดยเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม และดัชนีฯ ภาคบริการ ที่อยู่ที่ 52.5 จุด และ 54.4 จุด ตามลำดับ ในวันที่ 26 มิ.ย. 58 กรีซยังคงไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกับกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งได้แก่ IMF EU และ ECB ได้ โดยจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 28 มิ.ย. 58 เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนที่โครงการความช่วยเหลือทางการเงินเดิมจะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย. 58

Japan: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดคมนาคมขนส่งที่ยังคงปรับตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนอัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่าย จัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 58 (เบื้องต้น) ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 49.9 จุด จาก 50.9 จุดในเดือนก่อนหน้า จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ยังเปราะบาง

China: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) จัดทำโดย HSBC เดือน มิ.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 49.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับไม่เปลี่ยนแปลงที่ 50.0 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมจีนต่อเนื่อง

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 ยังคงหดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากราคาสินค้าบางหมวดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และการคมนาคมขนส่ง

Phillipines: worsening economic trend

มูลค่าการนำเข้า เดือน เม.ย. 58 หดตัวร้อยละ -12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากการนำเข้าสินค้าพลังงานจากสินแร่ พลาสติก เหล็ก เครื่องมือด้านการขนส่ง และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัว ในด้านการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า การนำเข้าจากจีน (แหล่งนำเข้าอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.0 ของการนำเข้ารวม) หดตัวร้อยละ -11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การส่งออกที่น้อยกว่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าเดือน เม.ย. 58 ขาดดุล 300.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาหดตัวเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ต้นปี 58 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อนหน้า มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -2.9 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวในอัตราเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ค. 58 ขาดดุล 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนก่อน

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 58 หดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการผลิตโดยรวมที่กลับมาหดตัว ในขณะที่การผลิตภาคเหมืองแร่กลับมาขยายตัวได้ อัตราว่างงาน เดือน พ.ค. 58 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวในระดับเดิมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบ เกินระดับ 1,500 จุด โดย ณ วันที่ 25 มิ.ย. 58 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,519.47 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 40,314.4 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติ จากการเจรจาหนี้ของกรีซเริ่มมีความคืบหน้า ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 - 25 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,965.7 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับลดลงเล็กน้อย ขณะที่ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น 1-8 bps จากธุรกรรม Bond switching ของกระทรวงการคลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกว่าร้อยละ 95 ของธุรกรรมดังกล่าวเกิดจาก นักลงทุนสถาบันการเงินในประเทศและนักลงทุนระยะยาวในประเทศ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 - 25 มิ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,471.9 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 25 มิ.ย. 58 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 33.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ 0.39 จากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลส่วนใหญ่ ทั้งเงินสกุลหลักและภูมิภาค ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะเงินยูโรและริงกิตมาเลเซีย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.11 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ