รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2015 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2558

Summary:

1. กรมบัญชีกลางปลื้มส่วนราชการเร่งก่อหนี้-เบิกจ่าย

2. สศช. จ่อหั่นเป้าจีดีพี ปรับส่งออกหดตัวร้อยละ -1.0 ถึง -2.0

3. IEA มองราคาน้ำมันลงต่อ

1. กรมบัญชีกลางปลื้มส่วนราชการเร่งก่อหนี้-เบิกจ่าย
  • อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างติดตามตัวเลขการก่อหนี้ การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนและงบกลางของส่วนราชการให้ทันภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ส่วนราชการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าส่วนราชการมีการเร่งทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้ไปแล้วกว่าร้อยละ 50.6 ของงบม ลงทุนและงบกลาง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เพราะอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนกว่า 7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ อธิบดีมั่นใจว่าปีงบประมาณ 58 จะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 92 ถึง 93 อย่างแน่นอน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ภาคเศรษฐกิจหลักของไทยยังคงไม่สามารถเป็นที่พึ่งหลักได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออกสินค้า ภาคการลงทุนเอกชน และภาคการบริโภคเอกชน โดยเฉพาะภาคการส่งออกสินค้าที่มีการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี เนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในของอุตสาหกรรมไทยเอง จะมีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี รวมถึงภาครัฐที่ยังเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ได้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยหากการเบิกจ่ายมีประสิทธิภาพ ย่อมจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจไทยได้บางส่วน โดยเฉพาะ การเบิกจ่ายงบลงทุนที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของไทย ทำให้สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในระยะยาว ทั้งนี้ หากดูจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา พบว่า อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งหากหน่วยงานราชการสามารถเร่งเบิกจ่ายในปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอัตราดังกล่าวย่อมเป็นส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ได้ในปีนี้ และถือเป็นการเสริมสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
2. สศช. จ่อหั่นเป้าจีดีพี ปรับส่งออกหดตัวร้อยละ -1.0 ถึง -2.0
  • นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 อาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม หลังปัจจัยภายนอกประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ครั้งก่อน ประกอบกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกลง ส่งผลให้คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้มีโอกาสหดตัวที่ร้อยละ -1.0 ถึง -2.0 หลัง 5 เดือนแรกหดตัว ไปแล้วที่ร้อยละ -4.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยให้ปรับตัวลดลง โดยข้อมูลการส่งออกไปยังจีนล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 หดตัวที่ร้อยละ -8.2 และข้อมูลการส่งออกรวมล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 58 หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -4.2 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรให้หดตัวมากขึ้น โดยสศค. คาดว่าการส่งออกในปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง 2.2) ประมาณการ ณ เม.ย. 58 ทั้งนี้จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ค. 58
3. IEA มองราคาน้ำมันลงต่อ
  • International Energy Agency หรือ IEA หน่วยงานข้อมูลระหว่างประเทศด้านพลังงาน เผยว่า ตลาดน้ำมันโลกยังคงมีอุปทานล้นเกินเป็นจำนวนมากและจะยังคงเป็นไปในลักษณะนี้จนถึงปีหน้า จนกว่าผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคจะลดปริมาณการผลิตลง โดย IEA คาดว่า การขยายตัวของผลิตพลังงานจากสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงภายในกลางปีหน้า ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างรัสเซียก็จะผลิตได้น้อยลงมาอยู่ที่ 10.86 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้เฉลี่ย 10.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน สาเหตุของการผลิตที่ลดลงของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคมาจากราคาที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเกินกว่าที่กลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยง การควบคุมต้นทุน และการพัฒนาประสิทธิภาพจะสามารถพยุงธุรกิจและรองรับภาวะการขาดทุนไว้ได้ ขณะที่ IEA คาดว่า กลุ่มโอเปคจะยังคงแนวทางการผลิตในระดับสูงไว้ไปจนถึงปีหน้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปี 58 จะเป็นปีที่อุปทานล้นเกินทั้งปี จากแรงส่งด้านอุปทานที่มีมากจากกลุ่มโอเปคและสหรัฐฯ และแรงดึงด้านอุปสงค์จากวิกฤติเศรษฐกิจในกรีซ รวมถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ด้านปัจจัยที่เป็นแรงส่งฝั่งอุปทานเพิ่มเติมอย่างกรณีการเจรจายกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านที่สามารถเพิ่มอุปทานของโลกได้อีก 5 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ตามกำหนดเวลา คาดว่าต้องรอดูความคืบหน้าอีก 1-2 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับข่าวและสะท้อนผลในราคาแล้วบางส่วน สิ่งที่นักวิเคราะห์กำลังจับตาในช่วงข้างหน้าคือการกลับมาของการผลิตในสหรัฐฯ ว่าจะยั่งยืนหรือไม่ ทั้งนี้ สศค. ยังคงมองว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 58 จะยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ 60.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ