รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 3, 2015 14:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2558

Summary:

1. ธปท. คาด GDP ปีนี้อาจปรับลงจากประมาณการร้อยละ 3.0 หลังส่งออกอาจติดลบกว่าคาด

2. ค่ายรถเจอมรสุมรุมรอบด้าน ฉุดเป้ายอดผลิตในปีนี้

3. อิหร่านกร้าว เพิ่มน้ำมันแตะ 1 ล้านบาร์เรลใน 1 เดือน

1. ธปท. คาด GDP ปีนี้อาจปรับลงจากประมาณการร้อยละ 3.0 หลังส่งออกอาจติดลบกว่าคาด
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในปี 58 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีโอกาสปรับลดลงอีกจากที่ประมาณการไว้ร้อยละ 3.0 หลังจากภาคการส่งออกยังคงชะลอตัวโดยมองว่าการส่งออกทั้งปี มีโอกาสติดลบมากกว่าคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.5 ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นไม่ส่งผลต่อภาคการส่งออกแต่เชื่อว่าจะกระตุ้นให้ภาคการส่งออกขยายตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 58 โดยเฉพาะหมวดเกษตร รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนลงจะไม่กระทบต่อการนำเข้า เพราะถ้ามีคำสั่งซื้อยอดการนำเข้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ สศค. วิเคราะห์ว่า จากประมาณการครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. 58 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 58 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นการปรับลดประมาณการจากครั้งก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักของการปรับลดเกิดจากภาคการส่งออกที่ยังคงติดลบต่อเนื่องและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้น้อยกว่าที่คาด โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของปี 58 จะหดตัวที่ร้อยละ-4.0 ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ GDP ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.0 ในปีนี้คือการลงทุนภาครัฐบาล ซึ่งจากสมมติฐานคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 19.6 รวมถึงการบริโภคภาครัฐที่จะยังเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีตั้งแต่ต้นปีก็จะเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทยในปีนี้
2. ค่ายรถเจอมรสุมรุมรอบด้าน ฉุดเป้ายอดผลิตในปีนี้
  • นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (สอท.) ประเมินว่า ยอดผลิตรถยนต์เพื่อขายในประเทศปีนี้ อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่ได้ มีการปรับประมาณการล่าสุดอยู่ที่ 850,000 คัน เหลือเพียง 800,000 คันเท่านั้น ส่วนการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกยังคงเป้าหมายเดิมที่ 1,200,000 คัน ทำให้เป้าการผลิตรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ที่ 2 ล้านคัน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สอท.จะติดตามถึงภาวะตลาดในประเทศช่วงเดือน ก.ย. 58 อีกครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 58 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -35.4 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลให้ยอดขายรถยนต์ไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน มิ.ย. 58 ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 63.8 รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยหนี้ภาคครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 58 ปรับตัว เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 79.9 ของ GDP นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซา และ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อกำลังซื้อภาคประชาชนให้ชะลอตัวลง และทำให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงหดตัวในระดับสูง กอปรกับการเร่งการบริโภคไปก่อนหน้านี้จากนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 2 ปี 58 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -27.3 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนรูปแบบที่เน้นการส่งออกเพื่อชดเชยยอดขายภายในประเทศ จะช่วยให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงขยายตัวได้
3. อิหร่านกร้าว เพิ่มน้ำมันแตะ 1 ล้านบาร์เรลใน 1 เดือน
  • นายบิจาน นามดาร์ ซานกาเนห์ รัฐมนตรีพลังงานของอิหร่าน ให้สัมภาษณ์กับสื่อของอิหร่านว่า ประเทศอิหร่านจะสามารถเพิ่มการผลิตได้อย่างรวดเร็วหลังการยกเลิกการคว่ำบาตรซึ่งจะมีผลจริงในช่วง ปลายเดือน พ.ย. 58 นี้ โดยนายซานกาเนห์ กล่าวว่า อิหร่านสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 5 แสนบาร์เรลต่อวันภายใน 1 สัปดาห์ และเพิ่มได้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 1 เดือน
  • สศค.วิเคราะห์ว่า หากคำกล่าวของนายซานกาเนห์เป็นความจริงจะทำให้ตลาดน้ำมันในช่วงปลายปีได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญอีกครั้ง เนื่องจากสิ่งที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์อย่างซิตี้แบงค์และโกลด์แมนแซคส์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าอุปทานของอิหร่านจะเข้ามามีบทบาทในตลาดจริงตั้งแต่ช่วงกลางปี 59 เป็นต้นไป ตลาดอาจมีการปรับการคาดการณ์รวมถึงการประเมินราคาน้ำมันใหม่ จากข้อมูลล่าสุดอิหร่านถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มโอเปค มีกำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ 2.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยก่อนหน้าที่จะถูกคว่ำบาตรรอบล่าสุดนี้ในช่วงปลายปี 54 อิหร่านมีกำลังการผลิตถึง 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน เช่น BP หรือ Royal Dutch Shell เริ่มแสดงความสนใจในการร่วมลงทุนแล้ว หากบรรลุการเจรจาได้การเดินหน้าลงทุนจะมีความรวดเร็วและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปทานที่จะออกมาเร็วกว่าที่คาด ดังนั้น คำกล่าวของนายซานกาเนห์จะมีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้น ความเคลื่อนไหวของอิหร่านจึงเป็นปัจจัยที่น่าจับตามองสำหรับตลาดน้ำมันในระยะหนึ่งปีข้างหน้านี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ