รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 25, 2015 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2558

Summary:

1. สศช.เผยไตรมาส 2 จ้างงานลดลง เหตุภัยแล้ง-ส่งออกหด-หนี้สินพุ่ง

2. การท่องเที่ยวฯ เชื่อเหตุระเบิดราชประสงค์ไม่กระทบช่วงไฮซีซั่น

3. สิงคโปร์เผย CPI เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.4

1.สศช.เผยไตรมาส 2 จ้างงานลดลง เหตุภัยแล้ง-ส่งออกหด-หนี้สินพุ่ง
  • นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/58 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ประกอบด้วย การจ้างงานที่ลดลง อัตราการว่างงานต่ำขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นช้า โดยการมีงานทำลดลงร้อยละ 0.2 ตามการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตร และจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาส 2/58 ประมาณ 3 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.88 นอกจากนี้ ยังชี้ถึงประเด็นที่ต้องติดตาม คือรายได้ของแรงงาน และการเฝ้าระวังการเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลงและการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 2/58 ที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมากจากการชะลอตัวเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวตามไปด้วย และได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการจ้างงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจากข้อมูลล่าสุด เดือน ก.ค. 58 พบว่ามีการจ้างงานอยู่ที่ 38.1 ล้านคน หรือเป็นการหดตัวร้อยละ -1.0 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 จากการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ตามการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือก ที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่ทิ้งช่วงยาวนานทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ อย่างไรก็ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคบริการที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาการขายส่งการขายปลีก และสาขาบริการด้านอาหารและที่พักแรม ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการเลิกจ้างเดือน มิ.ย. 58 พบว่า ผู้เลิกจ้างงานมีจำนวน 6,340 คน เพิ่มขึ้น 569 คน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
2. การท่องเที่ยวฯ เชื่อเหตุระเบิดราชประสงค์ไม่กระทบช่วงไฮซีซั่น
  • นายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 บริเวณแยกราชประสงค์คาดการณ์ว่าจะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกการเดินทางในสัดส่วนที่ไม่มากนักทั้งกรุ๊ปทัวร์และกลุ่มเดินทางอิสระ และจะไม่ส่งผลกระทบถึงการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นอย่างแน่นอน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวถือว่าเป็นพระเอกของการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงนี้ โดยพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกของปี 58 นี้ (ม.ค. - มิ.ย.) มีจำนวน 14.9 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 29.5 โดยที่สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในการประมาณการเศรษฐกิจไทยของ สศค. ณ ก.ค. 58 ที่คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปี 58 จะอยู่ที่ 29.9 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 20.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กล่าวคือ ในช่วง 6 เดือนที่เหลือ คาดว่านักท่องเที่ยวจะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวน 15 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยที่ในช่วงไตรมาสสุดท้าย จะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือไฮซีซั่นของประเทศไทย ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยมากกว่าช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น หากผลกระทบของเหตุระเบิดจะกระทบถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในระยะสั้น สศค. คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมายดังกล่าวที่ 29.9 ล้านคน
3. สิงคโปร์เผย CPI เดือน ก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.4
  • ทางการสิงคโปร์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 เนื่องจากราคารถยนต์ปรับตัวลดลง และตลาดบ้านสิงคโปร์ยังคงอ่อนแรง ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.3 นอกจากนี้ ทางการสิงคโปร์ยังระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ที่ระดับเดิม แม้ว่าดัชนี CPI อาจปรับตัวลงอีก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจสิงคโปร์มีการบริโภคภาคเอกชนในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.3 ของ GDP ปี 57 การลดลงของ CPI จึงอาจช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ GDP ไตรมาส 2 ปี 58 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -1.0 จากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล ผลจากภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 58 ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.7 จุด จาก 50.4 จุดในเดือนก่อน จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค. 58 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอาทิ สหรัฐฯ จีน และกลุ่มยูโรโซนที่ชะลอตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ค. 58 หดตัวร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ