รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 กันยายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2015 13:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 กันยายน 2558

Summary:

1. หอการค้าไทยปรับลดคาดกาณ์ GDP ปี 58 เหลือร้อยละ 3.1

2. S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือบราซิล สู่ระดับ "ไม่น่าลงทุน"

3. ทางการจีนจะผ่อนคลายให้ธนาคารกลางต่างประเทศเข้าถึงเงินหยวนในตลาดได้มากขึ้น

1. หอการค้าไทยปรับลดคาดกาณ์ GDP ปี 58 เหลือร้อยละ 3.1
  • นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 3.2 โดยการส่งออกในปี 58 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -4.8 ผลจากความไม่ชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กอปรกับภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ในปี 59 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 4.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวเป็นไปในทิศทางสอดคล้องกับ สศค. โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 58 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปีก่อนหน้า โดยช่วงครึ่งแรกปี 58 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจช่วงที่เหลือคาดว่าจะมีแรงส่งจากปัจจัยบวกภาคการส่งออกบริการและการใช้จ่ายภาครัฐที่มีส่วนสนับสนุนภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นๆ บ่งชี้จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน ก.ค. 58 อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 38.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากนักท่องเที่ยวชาวจีนและมาเลเซียเป็นหลัก นอกจากนี้ เครื่องชี้ด้านการบริโภค เช่น ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนการจับจ่ายใช้สอยในประเทศที่อยู่ในระดับดี กอปรกับการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐเดือนดังกล่าวยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงถึงร้อยละ 17.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับ 1 ที่ชะลอตัว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและประเทศในอาเซียนผ่านช่องทางการค้าเป็นสำคัญ
2. S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือบราซิล สู่ระดับ "ไม่น่าลงทุน"
  • สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor's (S&P) ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลบราซิลลง 1 ขั้น จากเดิมที่ระดับ BBB- ลงสู่ระดับ BB- และให้แนวโน้มเชิงลบ (Negative Outlook) ส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของบราซิลตกอยู่ในระดับ "ไม่น่าลงทุน" (Junk Grade) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี โดย S&P ให้เหตุผลว่าเกิดจากปัญหาการเมืองภายในบราซิลที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งนี้ S&P เคยออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลบราซิลเมื่อเดือน ก.ค. 58 ว่าอาจมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยตั้งแต่ต้นปี 58 บราซิลถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดย S&P มาแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 58
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักที่บราซิลโดนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว เกิดจากการที่รัฐบาลบราซิลภายใต้การบริหารของนางดิลมา รุสเซฟ ประธานาธิบดี แสดงจุดยืนที่ไม่ชัดเจนในการจัดทำงบประมาณปี 59 โดยนางรุสเซฟแสดงท่าทีว่าในปี 59 จะใช้งบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพการคลังของบราซิลเพิ่มเติม เนื่องจากล่าสุด (ส.ค. 57 - ก.ค. 58) บราซิลขาดดุลการคลังเบื้องต้นถึงร้อยละ -0.9 ของ GDP อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจบราซิลในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอยมาตั้งแต่ต้นปี 58 โดยล่าสุดในไตรมาส 2 ปี 58 เศรษฐกิจบราซิลหดตัวถึงร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ -1.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จึงทำให้รัฐบาลบราซิลต้องการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลต่อเนื่องในปีหน้าเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงอ่อนแอและยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในเวลาอันใกล้ทั้งนี้ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว อาจจะส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยเงินทุนอาจไหลออกจากตลาดลาตินอเมริกา และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่อื่นๆ รวมถึงไทยได้ จึงจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดต่อไป
3. ทางการจีนจะผ่อนคลายให้ธนาคารกลางต่างประเทศเข้าถึงเงินหยวนในตลาดได้มากขึ้น
  • นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้ประกาศในที่ประชุม World Economic Forum เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 58 ว่า ทางการจีนจะผ่อนคลายการแลกเปลี่ยนเงินหยวนในตลาดในประเทศจีนสำหรับธนาคารกลางต่างประเทศให้สะดวกมากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงเงินหยวนและทำให้เงินหยวนมีความสำคัญมากขึ้นในตลาดการเงินโลก โดยจะอนุญาตให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนเงินหยวนได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องแลกเปลี่ยนผ่านธนาคารพาณิชย์ในประเทศจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินหยวนสำหรับธนาคารกลางต่างประเทศในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามสำคัญของทางการจีน ในการผลักดันเงินหยวนให้เป็นเงินสกุลหลักของโลก โดยเฉพาะการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้า SDR หรือ Special Drawing Rights ของ IMF ร่วมกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางการจีนได้ปรับใช้วิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐแบบใหม่ โดยนับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 58 เป็นต้นมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนที่ธนาคารกลางจีนประกาศ (Reference Rate) ก่อนที่ระบบแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีนเปิดทำการทุกวันจะขึ้นอยู่กับราคาปิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันก่อนหน้า (Previous Close) ซึ่งจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารกลางจีนประกาศรายวันมีความสอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 2.6 ในเดือน ส.ค. 58 ทั้งนี้ การผ่อนคลายให้ธนาคารกลางต่างประเทศสามารถแลกเปลี่ยนเงินหยวนได้อย่างเสรีมากขึ้นนี้ คาดว่าจะยังไม่ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าจีนอย่างมหาศาลในระยะสั้น เนื่องจากยังคงมีการคาดการณ์กันอย่างแพร่หลายว่าเงินหยวนอาจอ่อนค่าลงต่อไปและมีความผันผวนสูง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ