รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2015 13:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2558

Summary:

1. SCB ลดจีดีพีไทยปีนี้เหลือโตร้อยละ 2.0-2.5

2. สั่งบีโอไอทำแพ็คเกจฟื้นท่องเที่ยว

3. เกาหลีใต้เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจไตรมาส 4 ยังย่ำแย่ เหตุวิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย

1. SCB ลดจีดีพีไทยปีนี้เหลือโตร้อยละ 2.0-2.5
  • นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC แถลงปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 58 เหลือร้อยละ 2.0 -2.5 หรือมีค่ากลางเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.2 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.0 และปรับคาดการณ์การส่งออกเป็นติดลบร้อยละ 4.5 ถึง 5.0 จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ 2.0 ขณะที่ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 58 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ส่วนเศรษฐกิจปี 59 คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 -3.0 และการส่งออกปีหน้าน่าจะเติบโตร้อยละ 0.0-2.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 พบว่าส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจด้านการผลิต สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -7.4 และ -4.5 ตามลำดับ รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้านการใช้จ่ายก็ส่งสัญญาณชะลอตัวจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่อุปสงค์ภายนอกประเทศก็ส่งสัญญาณหดตัวเช่นเดียวกัน จากการส่งออกสินค้าและการนำเข้าสินค้าที่หดตัวร้อยละ -4.9 และ -8.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 58 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 30.1 ประกอบกับนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐตามโครงการต่างๆ อาทิ โครงการบริหารการจัดการน้ำ โครงการพัฒนาระบบถนน เป็นต้น รวมถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ในที่เหลือของปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจในปี 58 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5) คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค.58 ซึ่งทาง สศค.จะมีการปรับประมาณอีกครั้งในเดือน ต.ค.58
2. สั่งบีโอไอทำแพ็คเกจฟื้นท่องเที่ยว
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ หามาตรการช่วยส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยว โดยให้ไปพิจารณาแนวทางการยกระดับคุณภาพของชุมชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองมักไม่สนใจลงมือทำเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ก็มุ่งเจาะเพียงตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวก็มีจำกัดในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ เกาะสมุย และภูเก็ตเท่านั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านต่างๆ ยังคงส่งสัญญาณหดตัว แต่ภาคการท่องเที่ยวยังส่งสัญญาณขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มักมีการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น และเป็นการส่งเสริมเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ เป็นต้น ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นรายได้สำคัญของประเทศ กระจุกตัวที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เหล่านี้เท่านั้น ไม่มีการกระจายออกไปในยังจังหวัดต่างๆ ขณะที่ประเทศไทย มีรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ตามภูมิภาค วัฒนธรรม สินค้าประจำท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละจังหวัดเป็นของตนเอง ดังนั้น หากรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวให้แข็งแกร่ง โดยยกระดับคุณภาพชุมชนท้องถิ่น มีการเสนอจุดเด่นของแต่ละท้องที่ ทั้งแหล่งท่องเที่ยว หรือสินค้าท้องถิ่นที่แตกต่าง จะช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ให้ท่องเที่ยวไปยังจังหวัดเหล่านี้ และช่วยสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้นได้
3. เกาหลีใต้เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจไตรมาส 4 ยังย่ำแย่ เหตุวิตกเฟดขึ้นดอกเบี้ย
  • หอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ว่า ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 ยังคงย่ำแย่ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับกระแสคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (BSI) ในช่วงไตรมาส 4 ลดลง 1 จุด จากช่วงไตรมาส 3 มาแตะระดับ 87 โดยดัชนีที่ต่ำกว่า 100 บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจที่มีมุมมองลบมีจำนวนมากกว่าผู้ที่มีมุมมองบวก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในระดับดี โดยในไตรมาส 2/58 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.2 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค MERS ก็ตาม แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของเกาหลีใต้ ก็ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของเกาหลีใต้ให้หดตัว โดยมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -8.3 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -21.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ