รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 9, 2015 15:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2558

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 61.2 จุด

2. ททท. คาดเทศกาลเจ มีนักท่องเที่ยวเดินทาง 2.1 แสนคน เป็นเงินสะพัด 3.1 พันล้านบาท

3. คำสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชนของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 61.2 จุด
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ระดับ 61.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.5 จุด นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน และลดลงต่อเนื่อง 9 เดือนติดต่อกัน จากความกังวลใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัจจัยลบจากภาคการส่งออกที่ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 58 อยู่ที่ระดับ 65.0 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเครื่องชี้การบริโภคล่าสุดที่มีสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง อาทิ ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ เดือน ส.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงแนวโน้ม การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจเป็นความท้าทายต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 58 โดยการบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นร้อยละ 50.9 ของ GDP (ข้อมูลปี 57) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกจากมาตรการเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลวงเงินรวมกว่า 1.36 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับต่ำ เข้ามาช่วยต้นทุนการบริโภคให้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง
2. ททท. คาดเทศกาลเจ มีนักท่องเที่ยวเดินทาง 2.1 แสนคน เป็นเงินสะพัด 3.1 พันล้านบาท
  • นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า เทศกาลถือศีลกินเจ ระหว่างวันที่ 13-21 ต.ค. 58 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนกว่า 2.1 แสนคน ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเป็นเงินที่สะพัดกว่า 3.1 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย คาดว่าจะเป็นการพักค้างคืนร้อยละ 94 เฉลี่ยการใช้จ่าย 4,000 บาทต่อคนต่อวัน และส่วนที่เหลือเป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ค้างคืน เฉลี่ยการใช้จ่าย 2,900 บาทต่อคนต่อวัน โดยหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือจังหวัดภูเก็ต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคาดการณ์ของ ททท. ดังกล่าว นับเป็นสัญญาณบวกต่อภาคธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการผลิตภาคโรมแรมและภัตตาคารในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น ร้อยละ 4.5 ของ GDP ด้านอุปทาน (ข้อมูลปี 57) และในช่วงที่ผ่านมานับว่าภาคส่วนเศรษฐกิจนี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 58 การผลิตภาคโรงแรมและภัตตาคาร ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 18.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในไตรมาสที่ 2 ปี 58 นอกจากนี้ การคาดการณ์ของ ททท. ยังสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 60 ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ภาพรวมในช่วงท้ายของปี 58 มีอัตราเข้าพักของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
3. คำสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชนของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 58 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
  • สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น (Economic and Social Research Institute) รายงานตัวเลข คำสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชนของญี่ปุ่น (ไม่รวมสินค้าที่มีความผันผวนสูง เช่น เรือ และพลังงานไฟฟ้า) เดือน ส.ค. 58 หดตัวร้อยละ -5.7 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่า คำสั่งซื้อฯ จะขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า คำสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชนของญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 58 ที่หดตัวเป็นผลจากคำสั่งซื้อของทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการที่หดตัวร้อยละ -3.2 และร้อยละ -6.1 จากเดือนก่อน สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการล่าสุด เดือน ก.ย. 58 ที่ลดลงจากเดือนก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 51.0 จุด และระดับ 51.4 จุด ตามลำดับ สะท้อนภาคการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศของญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง โดยยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 58 ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ซึ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงขยายตัวอย่างเปราะบาง แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีจากการอ่อนค่าของเงินเยน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ