รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2015 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2558

Summary:

1. พาณิชย์ เผย ก.ย.ส่งออกหดตัวร้อยละ -5.51, นำเข้าหดตัวร้อยละ -26.20

2. ก.พาณิชย์เผยสมาชิก RCEP พร้อมลดภาษีสินค้ากลุ่มแรกทันที

3. สิงคโปร์เผยยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.58 หดตัวร้อยละ -4.8

1. พาณิชย์ เผย ก.ย.ส่งออกหดตัวร้อยละ -5.51, นำเข้าหดตัวร้อยละ -26.20
  • กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ก.ย.58 การส่งออกมีมูลค่า 18,816 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบร้อยละ -5.51 จากตลาดคาดติดลบร้อยละ -7.6 ขณะที่นำเข้า 16,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบร้อยละ -26.20 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,794 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลการส่งออกล่าสุดในเดือน ก.ย. 58 พบว่าการส่งออกหดตัว ที่ร้อยละ -5.51 จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และหากพิจารณารายหมวดสินค้าหลัก พบว่าหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ -15.61 ตามการหดตัวในระดับสูงของมันสำปะหลัง ข้าว และยางพาราที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง ประกอบกับสินค้าแร่และเชื้อเพลิงและสินค้าอุตสาหรรมที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -43.38 และ -1.85 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้าในหมวดยานยนต์ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่องและเร่งขึ้น ในระดับสูงที่ร้อยละ -26.2 ซึ่งเป็นการหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าเช่นกันโดยเฉพาะสินค้าทุนที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -23.09 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.57 ส่วนสินค้านำเข้าในหมวดอื่นๆ เป็นการหดตัวต่อเนื่อง ทั้งหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -43.98 -28.13 และ -7.88 ตามลำดับ และจากมูลค่าการส่งออกที่มากกว่ามูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. เกินดุลอยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกในปี 58 จะหดตัวที่ร้อยละ -4.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -6.0 ถึง -2.0) ประมาณการ ณ ก.ค. 58 และจะมีการปรับประมาณการ อีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค. 58
2. ก.พาณิชย์เผยสมาชิก RCEP พร้อมลดภาษีสินค้ากลุ่มแรกทันที
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามการเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ขณะนี้ได้ข้อสรุปในการลดภาษีสินค้ากลุ่มแรกแล้ว ซึ่งสมาชิกตกลงที่จะมีการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ทันที จำนวนร้อยละ 65 ของสินค้าที่มีการค้าขายในกลุ่ม RCEP ที่มีอยู่ประมาณ 8,000-9,000 รายการ และจะทยอยเพิ่มสินค้าอีกร้อยละ 20 ให้ภาษีเป็น 0 ภายใน 10 ปี ส่วนสินค้าที่เหลืออีกร้อยละ 15 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว ก็จะมีการเจรจาให้มีการปรับลดภาษีลงในระยะต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรี RCEP ทั้งภาคการค้า การลงทุน และภาคบริการ เนื่องจาก RCEP ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งการลดภาษีการค้าระหว่างกันจะส่งเสริม ให้ไทยสามารถทำการค้ากับประเทศสมาชิกได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากจะมีราคาโดยเปรียบเทียบ ต่ำกว่าราคาสินค้าที่มาจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก ซึ่งไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศสมาชิก RCEP รวม 2.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 57 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของการค้ารวมของไทย โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา เป็นต้น ซึ่งการค้าระหว่างไทยกับ RCEP ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ ดังนั้น หากมีการเจรจาตกลงกรอบการลดภาษีสินค้าระหว่างกันให้มากขึ้นในหลายๆ กลุ่มสินค้า ก็จะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าของไทยให้ขยายตัวได้ดีมากยิ่งขึ้นอีก
3. สิงคโปร์เผยยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.58 หดตัวร้อยละ -4.8
  • คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่หดตัวร้อยละ -7.1 ในเดือน ส.ค. 58 ซึ่งปรับตัวลดลงค่อนข้างสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยที่ภาคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมเดินเรือยังคงอ่อนแรงต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีการหดตัวติดต่อกันในเดือน ก.ค.-ก.ย. 58 เป็นผลให้ GDP ของสิงคโปร์ไตรมาส 3/ 58 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอลงจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อน นอกจากนี้ ช่วงเวลาดังกล่าว มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -10.9 ผลจากสินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่หดตัวเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เนื่องจากสิงคโปร์มีการบริโภคภาคเอกชนในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 35.0 ของ GDP ในปี 56 ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ในเดือน ส.ค. 58 ยังถือเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคได้ ขณะที่ด้านการลงทุนอาจมีข้อจำกัดเล็กน้อยจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.008 ในเดือน ส.ค. มาเป็นร้อยละ 1.139 ในเดือน ก.ย. 58

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ