รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 13, 2015 13:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558

Summary:

1. ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไทย เดือน ต.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 9 เดือน

2. กำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 หดตัวร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. สหภาพแรงงานกรีซนัดหยุดงาน 24 ชั่วโมงเพื่อประท้วงเงื่อนไขการรัดเข็มขัด

1. ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไทยเดือน ต.ค. 58 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 9 เดือน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจดัชนีภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 44.3 จุด สูงขึ้นจากระดับ 43.3 จุด ในเดือนก่อน นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยดัชนีฯ ที่ปรับขึ้นมีทิศทางสอดคล้องกับความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้าปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ จากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น บ่งชี้ถึงมุมมองเชิงบวกของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่เริ่มทยอยเกิดขึ้นช่วงนี้และอีกหลายเดือนข้างหน้า สอดคล้องกับเครื่องชี้ภาคการบริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อาทิ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตลอดจนปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงเวลาเดียวกันขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ผลการประชุม ครม. ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 58 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลารถไฟ - รถเมล์ฟรี ออกไปอีก 6 เดือน (1 พ.ย. 58 - 30 เม.ย. 59) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมีทิศทางเป็นบวกมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 58 และ 59 จะขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 2.5 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ต.ค. 58)
2. กำไรของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 หดตัวร้อยละ -7.0 จากปีก่อน
  • นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 58 ว่ามีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 5.01 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ที่หดตัวนั้น เป็นผลมาจากการตั้งเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 4.46 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเงินสำรองที่ตั้งเพิ่มขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการเร่งตัวของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ในไตรมาสนี้ สะท้อนจาก NPL คงค้างในไตรมาสที่ 3 ปี 58 อยู่ที่ 360.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนทั้งสิ้น 48.9 พันล้านบาท โดยในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียจากโรงงานถลุงเหล็กของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ที่สหราชอาณาจักร ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (Gross NPL) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.78 สูงขึ้นมากจากร้อยละ 2.38 ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ยังคงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงทำกำไร โดยมีอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ที่ร้อยละ 1.2 และระดับ Gross NPL แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
3. สหภาพแรงงานกรีซนัดหยุดงาน 24 ชั่วโมงเพื่อประท้วงมาตรการรัดเข็มขัด
  • เมื่อ 12 พ.ย. 58 (ตามเวลากรีซ) สหภาพแรงงานกรีซทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนนัดหยุดงาน 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังและขึ้นภาษีตามข้อกำหนดของเจ้าหนี้ การนัดหยุดงานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบริการขนส่งประเภทต่างๆ รวมถึงเที่ยวบินภายในประเทศและการเดินเรือระหว่างเกาะ พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน และสื่อมวลชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังได้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวกรีกมาโดยตลอด เนื่องจากมีการปรับลดเงินเดือนข้าราชการและเงินประกันสังคมกว่าร้อยละ 30 และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจกรีซหดตัวลงถึงหนึ่งในสี่จากระดับก่อนวิกฤติ อย่างไรก็ตาม การนัดหยุดงานดังกล่าวอาจมีผลต่อเศรษฐกิจกรีซที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว โดยหากการนัดหยุดงานยืดเยื้อเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ โดยในปี 57 กรีซมีนักท่องเที่ยวมากถึง 22 ล้านคน และสร้างรายได้ 1.2 หมื่นล้านยูโร คิดเป็นประมาณร้อยละ 6.5 ของจีดีพี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 58 กลุ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) ยังไม่อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 12 พันล้านยูโร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินช่วยเหลือสำหรับการเพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหาทางการเงินของกรีซ เนื่องจากเห็นว่าการปฏิรูปของรัฐบาลกรีซยังไม่คืบหน้าตามที่กำหนดในส่วนของการแก้กฎหมายให้สถาบันการเงินสามารถยึดบ้านเพื่อชำระหนี้ได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ