รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2015 16:11 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การจ้างงานเดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ อัตราการว่างงานในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน ต.ค. 58 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ก.ย. 58 ที่ 2.19 ล้านล้านบาท
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.0 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -19.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือน ก.ย. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของต้หวัน เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.0 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -20.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 5.9 ของกำลังแรงงานรวม

Indicator next week

Indicators           Forecast     Previous
Oct : API (%YOY)      -14.1         -6.3
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.3 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีที่ปกติจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหา ภัยแล้งเมื่อต้นปี 58 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 58 จึงหดตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี คาดว่า ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ไม่มีสถานการณ์โรคระบาด
Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ต.ค. 58 มีจำนวน 137,040 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -0.7 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ผลมาจากการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาค ซึ่งยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.5 จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตามราคาน้ำมันดิบ และปริมาณอุปสงค์ในตลาดโลกที่ซบเซา ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงตกต่ำ โดยเฉพาะในภาคเกษตร ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ทั้งประเทศ ทั้งนี้ ข้อมูล 10 เดือนแรกของปี 58 (ม.ค. - ต.ค.) ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ -1.5
  • สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ ในเดือน ก.ย. 58 อยู่ที่ 2.19 ล้านล้านบาท ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามการลดลงของเงินรับฝาก โดยสภาพคล่องส่วนเกินที่ลดลงเป็นผลจากการลดลงของสินทรัพย์สภาพคล่องทุกประเภท อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน โดยสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินคิดเป็น 2.9 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงตามกฎหมาย (ร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก)
  • การจ้างงานเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ 38.09 ล้านคน หรือคิดเป็น การขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งโดยรวมการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ 26.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.6 แสนคน จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ สาขาการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและส้งคมสงเคราะห์ และสาขาด้านการศึกษา เป็นต้น ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงมีการจ้างงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตามฤดูกาล สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน ต.ค. 58 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล (%mom_sa) พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ เดือน ต.ค. 58 หดตัวที่ร้อยละ -0.7 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 58 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี
Economic Indicator: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 58 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.3 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีที่ปกติจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นไป แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งเมื่อต้นปี 58 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 58 จึงหดตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี คาดว่า ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โรคระบาด

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้น 271,000 ตำแหน่ง จากบริการธุรกิจและวิชาการ สาธารณสุข และค้าปลีกค้าส่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 58 ลดลงมาที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง โดยรายได้ภาคเอกชนเฉลี่ยรายสัปดาห์อยู่ที่ 867.3 ดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อน โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง

China: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -19.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ลดลงต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 15 ปี ด้านยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน เร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 (ตัวเลขปรับปรุง) หดตัวร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดเหล็กและเครื่องใช้สำนักงานที่หดตัวเร่งขึ้น

Eurozone: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อนหน้าจากการชะลอตัวของสินค้าคงทนและสินค้าทุน โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนีชะลอลงค่อนข้างมาก จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ในเดือนก่อนหน้า เป็นร้อยละ 0.2

Malaysia: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคและการส่งออกสุทธิที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้เศรษฐกิจมาเลเซีย 3 ไตรมาสแรก ปี 58 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตในสินค้าทุกหมวดที่ขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนดังกล่าว มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 ขยายตัว เร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และบางประเทศในอาเซียนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งจากเงินริงกิตซึ่งมีอ่อนค่า ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.6 จากสินค้าเกือบทุกหมวดที่ขยายตัวเป็นบวก ยกเว้นหมวดเชื้อเพลิงพลังงาน และสินค้าภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ยังคงหดตัว ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9.7 พันล้านริงกิต

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 แต่หดตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ -14.6 ในเดือนก่อน จากอานิสงส์ของการเปิดตัวโทรศัพท์มือถือไอโฟนรุ่นใหม่ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาด มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -20.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 โดยหดตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ -24.4 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 58 เกินดุล 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจาก ร้อยละ 3.5 ในเดือนก่อนหน้า

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ 5.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน ขณะที่อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 70.0 ของประชากรวัยทำงาน

Vietnam: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 58 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 9.3 ในเดือนก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกัน (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าหมวดเหมืองแร่และเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 58 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.4 ของกำลังแรงงงานรวม

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 58 หดตัวร้อยละ -24.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี โดยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปทุกประเทศหดตัวสูง ยกเว้นเพียงการส่งออกไปฮ่องกงที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

Indonesia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากน้ำมันและอะไหล่และส่วนประกอบที่หดตัว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากผลผลิตเครื่องดื่มและเครื่องนุ่งห่มที่หดตัวสูง

India: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 58 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากสินค้าภาคอุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวชะลอลง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ระดับ ต่ำกว่า 1,400 จุดอีกครั้ง โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 12 พ.ย. 58 ปิดที่ระดับ 1,384.3 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันทั้งสัปดาห์ค่อนข้างเบาบางที่ 37,278 ล้านบาท โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ สถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และเป็นแรงขายในหลักทรัพย์ กลุ่มสื่อสาร เนื่องจากการประมูล 4G ที่ยืดเยื้อซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของผู้บริโภคในอนาคต นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่างประเทศ คือ เครื่องชี้เศรษฐกิจจีนที่ออกมาไม่ดีนักสร้าง ความกังวลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีน และความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประชุม FOMC เดือน ธ.ค. 58 หลังจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 พ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 6,404.5 ล้านบาท
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5-10 ปีปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราฯ อายุ 11-15 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากความกังวลที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 พ.ย. 58 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 5,491.0 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 12 พ.ย. 58 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.78 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางเดียวกับ เงินสกุลอื่นในภูมิภาค ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าใกล้เคียงสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ทรงตัว โดยอ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.05 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ