รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2015 13:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558

Summary:

1. คลังทุ่มสุดตัวลุ้น GDP ปีหน้าโตร้อยละ 3.8

2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. หดตัวร้อยละ -4.2

3. อิหร่านเตรียมกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันเต็มตัว

1. คลังทุ่มสุดตัวลุ้น GDP ปีหน้าโตร้อยละ 3.8
  • รมว.คลัง เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นต่างๆ มีการคืบหน้าเป็นอย่างมาก เริ่มที่การปล่อยกู้กองทุน69024 หมู่บ้านวงเงิน 60,000 ล้านบาท ล่าสุดปล่อยกู้ไปแล้ว 40,000 ล้านบาท ส่วนเงินกู้ซอฟต์โลน สำหรับ SME วงเงิน 100,000 ล้านบาท พบว่ามีการจองวงเงินหมดแล้ว และอนุมัติกู้ไปแล้ว 68,000 ล้านบาท ส่วนการเร่งรัดใช้งบประมาณลงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงิน 40,000 ล้านบาท มีการทำสัญญาไปแล้ว 10,000 ล้านบาท สำหรับเงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท มีโครงการผ่านความเห็นชอบแล้วเป็นวงเงิน 36,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปีนี้จะลงนามในสัญญา 6 โครงการ และในปี 59 จะมีการลงนามสัญญา 20 โครงการ วงเงินรวม 1.6 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจากมาตรการทั้งหมดจะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.8
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดของรัฐบาล คาดว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งในไตรมาสที่ 4 ของปี 58 และจะให้ผลที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 59 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่า GDP ปี 58 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 57 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ ร้อยละ 3.8 โดยจะมีภาคการส่งออกบริการเป็นตัวขับเคลื่อนหลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศทั้งหมด 34.2 ล้านคนในปีหน้า นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐก็ยังเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจปี 59 โดยคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 8.3 จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะสามารถเบิกจ่ายได้ในปีหน้า ขณะที่ภาคการส่งออกในรูปเหรียญสหรัฐคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.5 ตามการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก
2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. หดตัวร้อยละ -4.2
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. อยู่ที่ 106.85 ลดลงจาก 108.19 ในเดือน ก.ย. หรือ หดตัวร้อยละ -4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้คาดว่า ในปีนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม จะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -0.5 ถึง 0.5 และหดตัวในช่วงร้อยละ 2 ถึง 3 ในปี 59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ต.ค. 58 หดตัวร้อยละ -4.2 ตามการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ เหล็ก น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 ตามการส่งออกรถยนต์ 111,229 คัน เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 19.1 เป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย โดยคาดการณ์ว่า MPI ปี 59 จะมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2 ถึง 3 ส่วนการปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมนั้น ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง 5 หน่วยงานคือ สศอ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก่อนหน้านี้ และได้ข้อสรุปให้มีการปรับปรุงน้ำหนักและปีฐาน โดยอิงข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมปี 55 ของ สสช. เพราะเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่มีซึ่งคณะทำงานเพื่อทำการปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรม ประกอบด้วย ธปท. และ สศอ. ได้มีการปรับอุตสาหกรรมจากเดิม 53 อุตสาหกรรม 216 ผลิตภัณฑ์ เป็น 56 อุตสาหกรรม 227 ผลิตภัณฑ์
3. อิหร่านเตรียมกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันเต็มตัว
  • กระทรวงพลังงานของอิหร่านออกมาเปิดเผยว่า ประเทศอิหร่านพร้อมปล่อยน้ำมันเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวน 5 แสนบาร์เรลต่อวันได้ทันทีหลังมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค. 59 อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงฯ ยืนยันว่าน้ำมันดิบจำนวนดังกล่าวจะไม่ได้กระทบกับราคาโลกแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ยังได้มีการเปิดเผยอีกว่ามีบริษัทพลังงานข้ามชาติหลายรายพร้อมลงทุนระยะยาวกับอิหร่านหลังการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอีกเช่นกัน โดยการลงทุนรวมดังกล่าวอาจมีมูลค่ารวมสูงถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากการเพิ่มการผลิตของอิหร่านหลังการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์มาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาที่การเจรจาเพื่อนำไปสู่การยกเลิกมาตรการฯ เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ราคาน้ำมันในปัจจุบันจึงอยู่ในระดับที่สะท้อนปัจจัยดังกล่าวไปแล้วบางส่วน อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนของปริมาณรวมที่แน่ชัดของผลผลิตจากอิหร่าน เนื่องจาก กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ OPEC ต้องมีความยินยอมเห็นชอบกับปริมาณการผลิตใหม่ของอิหร่านซึ่งต้องอยู่ภายใต้เพดานการผลิตตามมติของกลุ่มที่จะมีการประชุมในวันที่ 4 ธ.ค. นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานข้อมูลด้านพลังงานของสหรัฐฯ หรือ EIA ยังคาดการณ์ว่า อุปทานจากกลุ่ม OPEC ในปีหน้าจะขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.81 เท่านั้นแม้จะมีการผลิตส่วนเพิ่มจากอิหร่าน ซึ่งการขยายตัวที่ชะลอลงสอดคล้องกับการชะลอตัวลงของการเติบโตด้านผลิตทั่วโลกที่คาดว่าจะขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.46

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ