รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 มกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 15, 2016 13:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 มกราคม 2559

Summary:

1. หุ้นไทยดิ่งตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังเหตุระเบิดที่จาการ์ตา

2. ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี

3. อัตราเงินเฟ้ออินเดีย เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. หุ้นไทยดิ่งตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังเหตุระเบิดที่จาการ์ตา
  • ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 14 ม.ค. 59 ปิดที่ 1,263.29 จุด เปลี่ยนแปลงลดลง 15.32 จุด เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็นการปรับลดลงร้อยละ -1.20
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์สำคัญในภูมิภาค โดยในวันเดียวกันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียปิดตลาดที่ 4,964.07 จุด ลดลง -77.56 จุดจากวันก่อนหน้าหรือร้อยละ -1.54 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันปิดตลาดที่ 7,742.88 จุด ลดลง -81.73 จุด หรือร้อยละ -1.04 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ปิดตลาดที่ 1,900.01 จุด ลดลง -16.27 จุด หรือร้อยละ -0.85 และดัชนีตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นปิดตลาดที่ 17,240.95 จุดลดลง -474.68 จุด หรือร้อยละ -2.68 จากความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเปราะบาง และการปรับลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นกลางกรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ดัชนี CSI 300 ของจีนปิดตลาดที่ 3,221.57 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 65.69 จุด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2.08 สวนทางกับทิศทางของตลาดหลักทรัพย์อื่น อันเนื่องมาจากอัตราการขยายตัวของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่ออกมาดีกว่าคาด
2. ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.25 ต่อปี
  • เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 59 ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือนโดยปรับลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 7.25 ต่อปีซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี 2 เดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียจะพิจารณานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมหากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ทั้งนี้ การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอินโดนีเซียเป็นไปตาม การคาดการณ์ของตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อของอินโดนีเซียที่อยู่ในระดับต่ำตามทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมากทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 58 GDP ของอินโดนีเซียขยายตัวเพียงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือเป็นการขยายตัวในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จึงจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจอันเป็นการสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ระเบิดในกรุงจาการ์ตาฝนวันเดียวกัน (14 ม.ค. 59) อาจส่งผลกระทบให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินธุรกิจลดลงถือเป็นปัจจัยลบต่อระบบเศรษฐกิจ
3. อัตราเงินเฟ้ออินเดีย เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้ออินเดีย เดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ -2.0 ในเดือนก่อน ผลจากระดับราคาสินค้าในทุกหมวดที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนดังกล่าว อาทิ อาหาร สินค้าภาคการผลิต และเชื้อเพลิงพลังงาน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในแดนลบต่อเนื่องเป็นเวลา 14 เดือนติดต่อกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนเสถียรภาพด้านราคาของอินเดียที่ยังเป็นปัจจัยบวกแก่การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียที่ร้อยละ 56.8 ของ GDP ในปี 57 กอปรกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของอินเดียล่าสุดยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 58 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพึ่งพาการเติบโตจากภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ภาคการส่งออกมีความสำคัญเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 23.8 ของ GDP (ข้อมูลปี 57) โดยอินเดียถือเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิ ทั้งนี้ ระดับราคาสินค้าทั่วไปที่ยังอยู่ในเกณฑ์สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจจะส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียยังขยายตัวได้เร่งขึ้นต่อเนื่องทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 7.2 หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.2 - 8.2 (คาดกาณ์ ณ ต.ค. 58)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ