รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2016 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559

Summary:

1. สศอ. เร่งผลักดันทิศทางอุตสาหกรรมไทยในอนาคต

2. ดอกเบี้ยลบ ทุบส่งออกไปญี่ปุ่น

3. ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1.1 แสนล้านหยวน

1. สศอ. เร่งผลักดันทิศทางอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันดัชนีชี้วัดขีดความสามารถของประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของอุตสาหกรรมไทยอยู่ในระดับต่ำ (อันดับที่ 62 จากทั้งหมด 70 ประเทศ) รวมทั้งการบริหารจัดการของภาครัฐ และการพัฒนานวัตกรรมที่อยู่ระดับต่ำ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงกำหนดแผนแม่บทระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 60 - 65 ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยี การจัดการ และภาคแรงงาน โดยได้ตั้งเป้าให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 ต่อปี ทั้งนี้ สศอ. ได้ให้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ประเมินข้อมูลคาดการณ์ทิศทางความต้องการนวัตกรรมและเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบัน ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือ ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ลดลง นอกจากนี้ กำลังแรงงานของไทยกำลังมีการหดตัวลง จากการที่ไทยได้เข้าสู่ภาวะสังคมชราภาพแล้ว จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาว ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งสร้างปัจจัยทุนที่มีคุณภาพเพื่อส่งเสริม การทำธุรกิจและลดต้นทุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ รวมถึงยังต้องมีการพัฒนานวัตกรรมการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกแม้จะมีปัจจัยค่าแรงที่สูงขึ้นก็ตาม
2. ดอกเบี้ยลบ ทุบส่งออกไปญี่ปุ่น
  • ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 29 ม.ค. 59 ได้มีมติให้มีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบร้อยละ -0.1 สำหรับสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่นำเงินไปฝากไว้กับ BOJ นั้น มีผลทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงทันทีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ(จาก 118 เยน เป็น 121 เยน) ส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยไปญี่ปุ่นให้มีราคาแพงขึ้น ไม่จูงใจให้นำเข้า ขณะเดียวกันจากมาตรการดอกเบี้ยติดลบ ไม่แน่ใจว่าจะทำให้ชาวญี่ปุ่นลดการออม และจับจ่ายมากขึ้นหรือไม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าหลักอันดับที่ 3 ของไทย โดยในปี 58 ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ร้อยละ 9.4 ของการส่งออกรวม มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 20.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -7.7 เป็นการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. 58 จนถึง ธ.ค. 58 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจากการที่ BOJ ได้มีมติให้มีการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงอีก ถือเป็นความกังวลต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นให้ลดลงอีก เพราะการจับจ่ายเพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้น การนำเงินออมเพื่ออนาคตไปใช้จ่ายย่อมเป็นความเสี่ยง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบทำให้เยนอ่อนครั้งนี้ อาจทำให้เกิดสงครามค่าเงิน เพราะเยนอ่อนค่า เงินหยวนจีนก็อ่อนค่าเช่นกัน และ 2 ประเทศนี้ก็พึ่งพาการส่งออก ส่งผลให้สินค้าไทยนอกจากจะส่งไปญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้าจากญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ด้วย
3. ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1.1 แสนล้านหยวน
  • ธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเม็ดเงินอีก 1.1 แสนล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงินผ่านการดำเนินงานทางตลาดเงิน (open market operations) เพื่อบรรเทาภาวะสภาพคล่องตึงตัวก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดเงินเม็ดเงินดังกล่าวเข้าสู่ตลาดการเงินในวันนี้ ผ่านข้อตกลงซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) ระยะ 14 วันทั้งนี้ข้อตกลง reverse repurchase agreement หรือ reverse repo เป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางซื้อพันธบัตรจากธนาคารต่างๆ โดยมีข้อตกลงที่จะซื้อคืนพันธบัตรดังกล่าวในอนาคต การดำเนินการล่าสุดส่งผลให้ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดจำนวนทั้งสิ้น 6.20 แสนล้านหยวนในสัปดาห์นี้ หลังจากที่อัดฉีดเงิน 6.90 แสนล้านหยวนในสัปดาห์ที่แล้ว การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางจีน ส่วนหนึ่งมีจุดประสงค์เพื่อรองรับความต้องการเงินสดที่มักจะพุ่งสูงขึ้นก่อนช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. 59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ธนาคารจีนได้อัดฉีดเงินจำนวน 1.1 แสนล้านหยวนเข้าสู่ตลาดการเงินในครั้งนี้หลังจากสัปดาห์ที่แล้วมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ 6.90 แสนล้านหยวน จะทำให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้นในตลาดการเงินจีนโดยจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน และจะช่วยกระตุ้นให้อัตราการขยายตัวด้านการบริโภคของประเทศจีน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการบริโภคของประเทศจีนในไตรมาสที่ 4 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และการที่ในปี 58 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 11.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปทั่วโลก ดังนั้นจากการที่จีนมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดการเงินของจีนในครั้งนี้ ก็จะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการส่งออกด้วย

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ