รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 25, 2016 13:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2559

Summary:

1. ธ.ก.ส. ปรับโครงสร้างองค์กรตั้งสำนักงานโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร

2. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นทั่วโลก

3. PBOC กำหนดค่ากลางเงินหยวนอ่อนลงกว่าร้อยละ 0.33 ในวันที่ 24 มี.ค. 59

1. ธ.ก.ส. ปรับโครงสร้างองค์กรตั้งสำนักงานโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร
  • นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้ปรับโครงสร้างองค์กร โดยได้ตั้งสำนักงานโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตรขึ้น โดยมีศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรมเอสเอ็มอีเกษตร และหน่วยงานวิเคราะห์ลูกหนี้ เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกหาเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการให้สินเชื่อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับโครงสร้างองค์กรของ ธ.ก.ส. เป็นการดำเนินการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะพัฒนาการผลิตภาคเกษตรของประเทศซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 6.7 ของ GDP ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า นับเป็นการช่วยเหลือภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงหดตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยในเดือน ก.พ. 59 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ -7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ การจัดตั้งสำนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตรเป็นการเฉพาะจะเป็นผลดีต่อการดำเนินการของ ธ.ก.ส. โดยเป็นกลไกที่จะช่วยให้ ธ.ก.ส. สามารถวิเคราะห์ศักยภาพของลูกหนี้ได้ดียิ่งขึ้น
2. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นทั่วโลก
  • ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ เวลา 14.00 น. (เวลาไทย) ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 96.30 คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.26 จากวันก่อนหน้า ถือเป็นระดับที่แข็งค่าสูงที่สุดในรอบ 1 สัปดาห์ และทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง อาทิ แพลทินัม ทองคำ น้ำมันดิบสหรัฐฯ (West Texas Oil) ราคาลดลงร้อยละ 3.5 2.0 และ 4.0 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย อาทิ นิเคอิปรับลดลงร้อยละ 0.6
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาจากคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 59 นายแพทริก ฮาเกอร์ ประธาน Fed สาขาฟิลาเดอเฟีย แถลงว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจากที่ได้ปรับขึ้นไปแล้วเมื่อสิ้นปี 58 นายชาร์ล อีวาน ประธาน Fed สาขาชิคาโก เห็นว่าน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 59 นายเจมส์ บัลลาส ประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ ให้สัมภาษณ์ว่าควรพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในเดือน เม.ย. 59 นี้ จากการให้สัมภาษณ์ของคณะกรรมการหลายท่านในทิศทางเดียวกันในเวลาใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ตลาดเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น และเริ่มมีการขายสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อกลับเข้าถือหลักทรัพย์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นดังกล่าว หลังจากที่ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 59 ที่ผ่านมา ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ส่งสัญญาณปรับลดจำนวนครั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จาก 4 ครั้ง ในการประชุมเมื่อ ธ.ค. 58 เหลือเป็น 2 ครั้ง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในสัปดาห์ก่อน
3. PBOC กำหนดค่ากลางเงินหยวนอ่อนลงกว่าร้อยละ 0.33 ในวันที่ 24 มี.ค. 59
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศค่ากลางเงินหยวนประจำวันที่ 24 มี.ค. 59 ที่ 6.52 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า ทำให้การกำหนดค่ากลางในครั้งนี้เป็นการอ่อนค่าลงใน 1 วันในอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การอ่อนค่าลงของค่ากลางเงินหยวนกว่าร้อยละ 0.33 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 59 นี้ เป็นผลจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงวันก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากท่าทีของประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ซึ่งให้สัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือน เม.ย. 59 ซึ่งค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของตลาดในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่า ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี 57 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือน ส.ค. 58 ซึ่งธนาคารกลางจีนได้ปรับค่ากลางเงินหยวนให้อ่อนลงกว่าร้อยละ 4.7 ในช่วงเวลาเพียง 3 วัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 59 ค่าเงินหยวนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้าสร้างความเชื่อมั่นและช่วยพยุงค่าเงินหยวนของทางการจีน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ