รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 11, 2016 13:16 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2559

Summary:

1. พาณิชย์เร่งจัดมหกรรมค้าชายแดน หวังทะลุเป้า 1.7 ล้านล้านบาท

2. กรมการค้าภายใน สั่งลงพื้นที่ตรวจสอบราคาเหล็กทั่วปท.หลังราคาพุ่ง

3. อัตราเงินเฟ้อจีน ในเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. พาณิชย์เร่งจัดมหกรรมค้าชายแดน หวังทะลุเป้า 1.7 ล้านล้านบาท
  • กระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท ในปี 59 โดยมีกำหนดจัดโครงการส่งเสริมและขยายการค้าชายแดนเชื่อมโยงเพื่อนบ้านสู่จีนตอนใต้ ในระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค. 59 ณ จังหวัดนครพนม และหลังจากนี้กระทรวงฯ มีแผนจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ต่อเนื่องไปอีกในพื้นที่ติดชายแดนอื่นๆ ต่อไป คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดจันทบุรี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 58 มูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา) และการค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ และเวียดนาม) มีมูลค่ากว่า 1.14 ล้านล้านบาท หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.01 ต่อปี ขณะที่ไตรมาสแรก ปี 59 มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนของไทยมีมูลค่าการค้ารวม 2.91 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งโครงการส่งเสริมและขยายการค้าชายแดนเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน จะช่วยสนับสนุนให้ภาคการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ตามกำลังซื้อที่ขยายตัวต่อเนื่องของประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้ง ยังช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในปี 59 จะหดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี ดีขึ้นกว่าปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.6 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน-5 เป็นสำคัญ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักสำคัญของไทย จับตา: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งแรกของปี 59
2. กรมการค้าภายใน สั่งลงพื้นที่ตรวจสอบราคาเหล็กทั่วปท.หลังราคาพุ่ง
  • น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานการค้าภายในจังหวัดออกตรวจสอบร้านค้าเหล็กทั่วประเทศแล้ว โดยเฉพาะร้านค้าปลีก เพื่อตรวจสอบสถานการณ์จำหน่าย และป้องกันการกักตุนสินค้า หลังจากที่ราคาเหล็กได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกรมฯได้แจ้งให้ผู้ผลิตเหล็กที่จะปรับขึ้นราคาขาย ต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วันก่อนปรับขึ้นราคา เพื่อนำมาเป็นข้อมูลติดตามความเคลื่อนไหวทางด้านราคาต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาเหล็กเส้นปัจจุบันที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 20-21 บาท/กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17 จากปีที่แล้วที่ราคาอยู่ที่ 17-18 บาท/กิโลกรัม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้เหล็กของทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากการที่จีนปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้คุณภาพ ส่งผลให้กำลังการผลิตเหล็กของจีนลดลง ขณะที่ตลาดยังมีความต้องการใช้เหล็ก ประกอบกับความต้องการใช้เหล็กสำหรับโครงการการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนาดใหญ่ของไทย โดยเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งทำให้มีความต้องการบริโภคเหล็กเพิ่มมาก อีกทั้ง คาดว่าการลงทุนของภาครัฐ จะยังเป็นกลไกช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป โดย สศค. คาดว่า ในปี 2559 การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.0 และ 8.9 ต่อปี ตามลำดับ (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 59) จับตา: การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐในช่วงครึ่งแรก ปี 59
3. อัตราเงินเฟ้อจีน ในเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อในเดือน เม.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนมี.ค.และก.พ. ที่ผ่านมาตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหมวดอาหาร โดยเฉพาะราคาผักผลไม้พุ่งขึ้นร้อยละ 22.6 และราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับขึ้นร้อยละ 20.1 เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ระดับอัตราเงินเฟ้อจีนถือได้ว่าอยู่ในระดับที่ช่วยเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป นอกจากนี้สำหรับปัจจัยกดดันสำคัญของเศรษฐกิจจีน ได้แก่ 1) ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอุปทานส่วนเกินโดยเฉพาะเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก 2) กำลังการผลิตส่วนเกินในหลายภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและโลหะ และ 3) ความเสี่ยงจากภาคการเงิน และความผันผวนของค่าเงินหยวน ทั้งนี้สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนในปี 59 มีแนวโน้มชะลอตัวลง มาอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ประมาณการ ณ เดือน เม.ย. 59 จับตา: มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 2 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ