รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 25, 2016 13:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2559

Summary:

1. กรมการท่องเที่ยวเผยตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน เม.ย. 2.64 ล้านคน

2. บล.ภัทร มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.8% ส่งออกหดตัวยังกดดัน,ปีหน้าคาดโต 3.2%

3. GDP เยอรมนี ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. กรมการท่องเที่ยวเผยตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน เม.ย. 2.64 ล้านคน
  • ก.ท่องเที่ยวเผยตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเดือน เม.ย.59 มีจำนวน 2.64 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเซียตะวันออก ยุโรป อเมริกา เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง ซึ่งสร้างรายได้ 129,994.6 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย 59 มีจำนวน 2.64 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหลังหักผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย กลุ่ม CLMV และ เกาหลี ที่ขยายตัวร้อยละ 16.4 46.2 15.3 และ 11.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ 4 เดือนแรกปี 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 11.68 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 14.1 ต่อปี สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วประมาณ 5.93 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.9 ต่อปี ทั้งนี้ เครื่องชี้ภาคการท่องเที่ยวในเดือน พ.ค. 59 พบว่ายังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิและดอนเมืองในช่วง 1-15 วันแรกของเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.7 และ 32.4 ตามลำดับ ขณะที่ ด่านภูเก็ตในช่วง 1-7 พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 19.5 จับตา: จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพ.ค. 59
2. บล.ภัทร มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.8% ส่งออกหดตัวยังกดดัน,ปีหน้าคาดโต 3.2%
  • นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี KK Annual Seminar 2016 ในหัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจไทย"ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8 โดยเป็นการขยายตัวแบบค่อนเป็นค่อยไปในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 4.3 ต่อปี และต่ำกว่าประเทศในอาเซียนที่ขยายตัวเฉลี่ยในระดับร้อยละ 4-5 ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมาจากภาคการส่งออกที่ยังชะลอตัว เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง และเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะติดลบร้อยละ 0.7 ลดลงจากปีก่อนที่ติดลบร้อยละ 5.8 ขณะเดียวกันการบริโภคภาคเอกชนยังชะลอเป็นอีกปัจจัยกดดัน เพราะมีผลมาจากภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ไนระดับสูง และรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำจากปัญหาภัยแล้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี ซึ่ง ถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยมิได้ขยายตัวต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN-6 โดยมีเศรษฐกิจบรูไนและสิงคโปร์ที่มีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของอาเซียนที่เติบโตได้ในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตที่เร่งตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะ CLMV ที่เติบโตเฉลี่ยในปี 2558 ที่ประมาณร้อยละ 6.8 ต่อปี ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ของปี 2559 เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้จะยังคงมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี และการส่งออกคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี จับตา: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตร
3. GDP เยอรมนี ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติเยอรมนี เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาส 4 ปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวในอัตราเร่งของเศรษฐกิจของเยอรมนีนั้น ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนี มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป) ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวในต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว นอกจากนี้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม ในเดือน เม.ย. 59 (เบื้องต้น) ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 โดยอยู่ที่ 53.0 โดยดัชนีฯ ภาคการผลิต ปรับลดลงไปอยู่ที่ 51.5 ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 53.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจสหภาพยุโรป จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ประมาณการ ณ เดือน เม.ย.59 จับตา: อัตราการทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ในไตรมาส 2 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ