รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 8, 2016 16:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2559

Summary:

1. กรมบัญชีกลางเผยเบิกจ่าย 8 เดือนแรกสูงถึง 1.78 ล้านล้านบาท

2. กกร. มองเศรษฐกิจไตรมาส 2 ดีขึ้น และคาดว่าทั้งปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 3 - 3.5

3. ฟิลิปปินส์เผยดัชนี CPI เดือนพ.ค.พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 12 เดือน

1. กรมบัญชีกลางเผยเบิกจ่าย 8 เดือนแรกสูงถึง 1.78 ล้านล้านบาท
  • อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือน (ต.ค.58 - พ.ค.59) กรมบัญชีกลางมีเงินรับเข้าเงินคงคลังผ่านระบบ GFMIS (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 59) สูงถึง 2,686,031.66 ล้านบาท ซึ่งเดือน พ.ค. 59 มีเงินสดรับ 265,489 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 40,060 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.77 โดยผลการเบิกจ่ายเงินช่วง 8 เดือนแรกของงบประมาณประจำปี 59 (ต.ค.58 - พ.ค.59) เบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม 1,789,076 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,720,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 65.77
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลการเบิกจ่ายที่สามารถเบิกจ่ายได้สูงถึง 1.78 ล้านบาท บ่งชี้ให้เห็นว่ามาตรการภาครัฐเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี อีกทั้งเม็ดเงินเสริมจากมาตการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของภาครัฐทั่วประเทศ กรอบวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และจัดสรรแล้วเป็นเงินจำนวน 38,812 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเบิกจ่ายแล้วที่ร้อยละ 86.0 ของวงเงินจัดสรร จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการลงทุนเอกชนและภาครัฐในปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.0 และ 8.9 ต่อปี ตามลำดับ จับตา: การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59
2. กกร. มองเศรษฐกิจไตรมาส 2 ดีขึ้น และคาดว่าทั้งปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 3 - 3.5
  • กกร.เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนเมษายนว่าเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงส่งจากภาคบริการ ท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ แต่ยังมีความกังวลเรื่องการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าส่งออกมีโอกาสติดลบตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนและอาเซียน ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 ปี 59 จะใกล้เคียงกับในช่วงไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ทำให้คาดว่าในปี 59 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ 3 - 3.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย. 59 ปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายรัฐบาลที่ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 การบริโภคภายในประเทศจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี และภาคการท่องเที่ยวจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาเที่ยวไทย 33.8 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึงประมาณ 1.71 ล้านล้านบาท อีกทั้ง มาตรการภาครัฐจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนัสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย.59) จับตา: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59
3. ฟิลิปปินส์เผยดัชนี CPI เดือนพ.ค.พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 12 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน เนื่องจากราคาอาหารและสินค้าประเภทอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมถึงราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.6 เช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น ถือได้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ที่จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคครัวเรือนและอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ และยังอยู่ในช่วงคาดการณ์ของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ที่ร้อยละ 1.1 - 1.9 นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี สะท้อนได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 59 ที่ขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 6.9 จากร้อยละ 6.5 ในไตรมาส 4 ปี 58 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.9 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59) จับตา: อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ไตรมาส 2 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ