รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2016 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2559

Summary:

1. กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ1.50 ต่อปี

2. NIDA มองหากอังกฤษออกจาก EU กระทบมูลค่าการส่งออกของไทยในระยะยาว

3. ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงิน 1.5 แสนล้านหยวน

1. กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่เท่ากับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ของ กนง. เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยง อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร (Brexit) และความเสี่ยงในภาคการเงินจีน ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและเงินทุนเคลื่อนย้าย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเป็นบวกมากขึ้นที่ร้อยละ 0.5 จากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและราคาอาหารสด สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราเงินเฟ้อทั่วไป สศค. คาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.00 ถึง 2.00) และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0 ถึง 0.6) ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59 )
2. NIDA มองหากอังกฤษออกจาก EU กระทบมูลค่าการส่งออกของไทยในระยะยาว
  • ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทการจัดการภาครัฐและเอกชน (MPPM) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) คาดว่า หากผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักร(UK) การคงอยู่ในสหภาพยุโรป (Brexit) สรุปว่า สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) การค้าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบทางลบในระยะยาว ขณะที่ ในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากเกิดกรณี Brexit หรือ UK ออกจาก EU ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบดังนี้ 1) การส่งออกของไทยไปอังกฤษ อาจได้รับผลกระทบในทางลบ เนื่องจากการเติบโตในด้านการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษอยู่ภายใต้การทำข้อตกลงทางการค้าที่เกิดขึ้นจาก EU เป็นสำคัญ ดังนั้น หาก UK ออกจาก EU ข้อตกลงในเรื่องสิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ ต้องยุติ และย่อมส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าของไทยไปอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 2) จำนวนนักท่องเที่ยวจาก UK อาจลดลง เนื่องจากกรณี Brexit จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งอาจเกิดความเสี่ยงในธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ดำเนินการอยู่ในอังกฤษเนื่องจากการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงื่อนไขในด้านการค้าการผลิต ที่ได้รับในฐานะสมาชิก EU อาจจะส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนลง ทำให้การท่องเที่ยวในไทยเมื่อคิดในรูปเงินปอนด์และมีราคาสูงขึ้น และ 3) ในระยะสั้น กรณี Brexit จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเงินลงทุนจะไหลไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี พันธบัตรรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งทองคำ ทั้งนี้ UK กำลังจะลงประชามติว่าจะยังคงเป็นสมาชิก EU ต่อไปหรือไม่ ในวันที่ 23 มิ.ย. 59 (ผลการลงมติจะทราบในช่วงเช้าของวันที่ 24 มิ.ย. 59)
3. ธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงิน 1.5 แสนล้านหยวน
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเงิน 1.5 แสนล้านหยวน (2.28 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ตลาด โดยดำเนินการผ่านทางข้อตกลงซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) อายุ 7 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ด้วยข้อตกลงที่จะขายคืนในอนาคต สำหรับอัตราผลตอบแทนในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับเมื่อวันที่ 20 -21 มิ.ย 59 ที่ได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 2.8 แสนล้านหยวน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารจีนประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาด เป็นการเสริมสภาพคล่องทางเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนปี 59 มีการคาดการณ์ที่จะขยายตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดนอกอาเซียนที่หดตัวต่อเนื่อง ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.1 หดตัวชะลอลงจากการนำเข้าจากฮ่องกงที่ขยายตัวสูงผิดปกติ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนไว้ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ