รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2016 13:46 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพ.ค. 59 ได้จำนวน 307.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.7
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -19.1 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. 59 ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 13.6 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 111.5 ขยายตัวร้อยละ 2.6
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ค. 59 ปี งปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 189.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 8.3 และร้อยละ 26.5
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ค. 59 เกินดุล 2,233.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 59 อยู่ที่ 11.08 ล้านล้านoบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.1 ต่อ GDP
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 59 ของสหรัฐฯ (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ของเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 5.6

Indicator next week

Indicators               Forecast Previous
June :  Motorcycle  (%YOY)  5.7     14.8
  • ตามแนวโน้มราคาผลผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น และเป็นการกลับมาขยายตัวได้ใน 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งจะสร้างกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกร และจะส่งผลให้ประชาชนมีการบริโภคสินค้าคงทนประเภทรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น
Economic Indicators: This Week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนพ.ค. 59 ได้จำนวน 307.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 ต่อปี แต่ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 10.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ -3.2 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ต่ำกว่าประมาณการ ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้นมาจากการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่น เป็นสำคัญ ขณะที่ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้ร้อยละ 1.2 ต่อปี และการจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ต่อปี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 8 เดือนแรกปีงปม. 59 จัดเก็บได้ 1,556.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 61.1 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.1
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ค. 59 มีมูลค่า 57.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเจริญเติบโต ณ ระดับราคาที่แท้จริง ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) โดยการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บภาษีได้ชะลอลงที่ร้อยละ 1.0 ขณะที่ภาษีที่จัดเก็บจากการนำเข้ากลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 จากที่หดตัว -2.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค. - พ.ค.) ภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -19.1 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -55.7 ต่อเดือนเนื่องจากได้มีการเร่งการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ไปในช่วงเวลาก่อนหน้า
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ค. 59 พบว่า ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 13.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -43.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -29.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลัง 8 เดือนแรกของปีงปม. 59 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -520.3 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -88.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -608.8 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 366.8 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุล -242.0 พันล้านบาท และทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 184. พันล้านบาท
Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 111.5 ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการขยายตัวมาจากการผลิตในหมวดยานยนต์ที่มีการผลิตเพื่อตอบสนองการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น หมวดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากlสภาพอากาศที่ยังร้อนอยู่ และหมวดยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งได้รับอานิสงค์จากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราของรัฐบาล และหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 0.04
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ค. 59 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 189.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 176.5 พันล้านบาท เพิมขึ้นร้อยละ 7.6 ต่อปี ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 139.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 36.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.0 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 11.4 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 8.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันในช่วง 8 เดือนแรกปี งปม. 59 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,799.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 64.8 ของวงเงินงบประมาณ (2,776.0 ล้านล้านบาท)
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ค. 59 มีจำนวน 25,050 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 36 เดือน ตั้งแต่นโยบายรถคันแรกสิ้นสุดลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ ที่ขยายตัวได้ อาทิ รายได้เกษตรกร และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ทั้งนี้ หากพิจารณายอดการผลิตรถยนต์ก็ขยายตัวได้ในระดับสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งตั้งแต่ต้นปี 59 หดตัวร้อยละ -17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค. 59 มีจำนวน 40,985 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ตามการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่มีการขยายตัวร้อยละ 29.8 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล
Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน พ.ค. 59 เกินดุล 2,233.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเป็นผลมาจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 3,505.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมากกว่ามูลค่านำเข้า โดยมูลค่าส่งออกยังคงหดตัวโดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทัศนูปกรณ์ และสินค้าเกษตร ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวจากหมวดเชื้อเพลิง และสินค้าทุน ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 1,272.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 21,972.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ค. 59 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -10.0 ต่อเดือน ทั้งนี้ ใน 5 เดือนแรกของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -2.0

หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 59 อยู่ที่ 11.08 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.1 ต่อ GDP ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 81.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 13 จากการชะลอลงของสินเชื่อเกือบทุกประเภท และสินเชื่อรถยนต์ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 แต่หดตัวในอัตราชะลอลง ทั้งนี้ หากไม่รวมสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้ครัวเรือนกู้เพื่อใช้ ในการประกอบธุรกิจ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ร้อยละ 66.7 ต่อ GDP

Economic Indicator: Next Week

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.8 ตามแนวโน้มราคาผลผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น และเป็นการกลับมาขยายตัวได้ใน 2 เดือนติดต่อกัน ซึ่งจะสร้างกำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกร และจะส่งผลให้ประชาชนมีการบริโภคสินค้าคงทนประเภทรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ปรับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขที่ประกาศครั้งก่อน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 98.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากทั้งความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ปรับดีขึ้น ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน พ.ค. 59 ขยายตัว ร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดฯ บ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมส์ที่ปรับลดลง คำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือน จากสินค้าทุกประเภทที่ปรับตัวดีขึ้น

China: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม Caixin เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 48.6 จุด ลดลงจากระดับ 49.2 ในเดือนก่อน สอดคล้องกับดัชนีฯ โดย NBS ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.0 จุด จาก 50.1 ในเดือนก่อน ด้านดัชนีฯ ภาคบริการ NBS เดือน มิ.ย. 59 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.7 จุด จาก 53.1 ในเดือนก่อน

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 59 กลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากติดลบต่อเนื่อง 2 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ -7.3 จุด ปรับลดลงจาก -7.0 ในเดือนก่อน

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าเกือบทุกหมวดที่หดตัว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ -3.2 ในเดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้า อาทิ หมวดโลหะที่มิใช่เหล็ก อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่กลับมาขยายตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 41.5 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 40.7 จุดในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯยังอยู่ต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่อง

Indonesia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาอาหารสดและปรุงสำเร็จ และราคาเสื้อผ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 23 เดือน จากดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ ผลผลิต และการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น

Malaysia: worsening economic trend
  • มูลค่าส่งออก เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ผลจากการส่งออกไปยังจีน อาเซียน ฮ่องกง และไต้หวันที่หดตัวส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดเครื่องดื่มและยาสูบ เนื้อและไขมันสัตว์ และเคมีภัณฑ์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงที่ 3.3 พันล้านริงกิต
South Korea: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 59 กลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวในเดือนก่อน มูลค่าส่งออก เดือน มิ.ย. 59 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และมูลค่านำเข้า (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -8.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 50.5 จุด ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

Hong Kong: mixed signal

มูลค่าส่งออกและนำเข้า เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -0.1 และ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ หดตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ทำให้ดุลการค้าขาดดุลลดลงที่ 26.2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 59 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.5 จุด หลังจากที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 จุดต่อเนื่อง 2 เดือน

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน จากภาคการผลิตและบริการที่ขยายตัวสูง ขณะที่ภาคเหมืองแร่ยังคงหดตัวเล็กน้อย

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย ณ 30 มิ.ย. 59 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,445.0 จุด โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ถึง 53,911 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากความกังวลต่อผลกระทบจากผลประชามติแยกตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปหมดลง โดยธนาคารกลางสหราชอาณาจักรและอีกหลายประเทศมีท่าทีพร้อมอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อพยุงเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 7,178.3 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะมากกว่า 1 ปี ปรับตัวลดลง 2-17 bps จากการเข้าซื้อของนักลงทุนเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในขณะนี้ หลังจากผล Brexit ผิดความคาดหมายของตลาด อนึ่ง การประมูลพันธบัตรรุ่น Benchmark อายุ 10 ปี มีนักลงทุนสนใจ 1.15 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 29 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 11,001.3 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

ค่าเงินบาททรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.03 จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่เงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นเยน เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 2.29 ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.58 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ