รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 11, 2016 13:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 สิงหาคม 2559

Summary:

1. สศก. เผย GDP เกษตรไตรมาส 2 ปี 59 ลดลงร้อยละ -1.3

2. พาณิชย์ผลักดันการค้าชายแดน นำร่องแม่สอด - เมียวดี เป็นต้นแบบเมืองหน้าด่าน

3. เกาหลีใต้เผยตัวเลขจ้างงานเดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 298,000 ตำแหน่ง

1. สศก. เผย GDP เกษตรไตรมาส 2 ปี 59 ลดลงร้อยละ -1.3
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2/59 หดตัว ร้อยละ -1.3 ต่อปี โดยสาขาพืชผลได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากสุด หดตัวถึงร้อยละ -2.5 ส่วนรายได้เกษตรกรไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เนื่องจากราคาผลิตผลอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ไม้ผล และปาล์มน้ำมัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสที่ 2 (เม.ย-มิ.ย) ปี 59 พบว่า การเติบโตของภาคเกษตรวัดจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 2 ปี 59 หดตัว ร้อยละ -1.3 โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่าประมาณผลผลิตในหมวดพืชผล ปรับลดลงร้อยละ -2.5 โดยเฉพาะข้าวเปลือก ข้าวโพด ปาล์มน้ำมันและมันสัมปะหลังที่หดตัวร้อยละ -22.4 -16.4 -15.7 และ -4.6 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภัยแล้ง ส่วนสาขาประมง หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.9 ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตประมงทะเลลดลง อย่างไรก็ตาม สาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.1 โดยเฉพาะ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ขณะที่รายได้เกษตรกรในไตรมาสที่ 2 ปี 59 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เนื่องจากราคาผลิตผลเกษตรสำคัญที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการและโครงการขับเคลื่อนการเกษตรเพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันตามเป้าหมายของประเทศตามแนวทางประชารัฐ ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้งได้
2. พาณิชย์ผลักดันการค้าชายแดน นำร่องแม่สอด - เมียวดี เป็นต้นแบบเมืองหน้าด่าน
  • รมว.พาณิชย์ เผยว่า ที่ประชุมรับทราบแนวทางการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แม่สอด - เมียวดี ทั้ง 7 สาขา อาทิ การจัดตั้งสภาธุรกิจไทยเมียนมาระดับท้องถิ่น การพัฒนาระบบการขนส่ง ณ ด่านชายแดน การอำนวยความสะดวก การเคลื่อนย้ายแรงงาน และการสถาปนาบ้านพี่เมืองน้อง แม่สอด - เมียวดี เป็นต้น และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาการค้า ณ ด่านชายแดนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมการค้าชายแดนไทย - เมียนมา และกำหนดจัดมหกรรมการค้าชายแดนไทย - เมียนมา ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในเดือน พ.ย. 59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้า ณ ชายแดนต่าง ๆ จะทำให้เกิดการพัฒนาการค้าชายแดนและการขนส่งสินค้าข้ามแดนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือการค้าชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศ สำหรับสถิติการค้าชายแดนไทย-เมียนมา มีมูลค่ารวม 95,020.72 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 13.64 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.25 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 34.49 ซึ่งไทยได้ดุลการค้า 16,581.14 ล้านบาท ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอส์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอส์ น้ำตาลทราย เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์อุปกรณ์ฯ ผ้าผืนและเส้นด้าย ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากสัตว์ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และปลาหมึกสด แช่เย็น แช่แข็ง
3. เกาหลีใต้เผยตัวเลขจ้างงานเดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 298,000 ตำแหน่ง
  • สำนักงานสถิติเกาหลีใต้ รายงาน ตัวเลขจ้างงานเดือนก.ค. 59 โดยมีจำนวนผู้มีงานทำในเดือนก.ค. 59 อยู่ที่ 26,603,000 คน เพิ่มขึ้น 298,000 คน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ลดลง จากสถิติเดือน มิ.ย. 59 ซึ่งมีจำนวนคนที่มีงานทำเพิ่มขึ้น 354,000 คน ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.5 โดยจำนวนผู้ว่างงานลดลง 24,000 คน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการจ้างงานของเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นในเดือน ก.ค. 59 แต่จำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นในจำนวนที่ชะลอลง เป็นผลมาจากการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การผลิตที่มีการจ้างงานลดลง เนื่องจากการปรับโครงสร้างในอุตสาหกรรมต่อเรือและขนส่งสินค้า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการส่งออก ซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ค. 59 ที่หดตัวร้อยละ -10.2 ต่อปี และดัชนี PMI ในเดือน ก.ค. 59 ที่อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงานที่ปรับตัวลดลง สะท้อนถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ