รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 23, 2016 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 กันยายน 2559

Summary:

1. พาณิชย์ตั้งเป้าการค้าไทย-เมียนมาในปี 2560 ที่ 1.0 - 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. OECD ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 59 เหลือเพียงร้อยละ 2.9

3. ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดบวก ขานรับเฟดคงอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ

1. พาณิชย์ตั้งเป้าการค้าไทย-เมียนมาในปี 2560 ที่ 1.0 - 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รมว. พาณิชย์เปิดเผยในงานเสวนา "จัดทัพธุรกิจไทยไปเมียนมา" ว่าการส่งออกของไทยไปยังเมียนมามีมูลค่าไม่น้อยกว่าปีละ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งสองประเทศเห็นพ้องในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าไทย-เมียนมา ที่จะผลักดันให้การค้าไทย-เมียนมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.0-1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 60
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถิติมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทย-เมียนมาในปี 55-58 พบว่า เมียนมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทย โดยเฉลี่ยมูลค่าการค้า (ส่งออกและนำเข้า) อยู่ที่ราว 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ เมียนมายังเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 16 ของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกเฉลี่ยในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ ของการส่งออกรวม หรือคิดเป็นร้อยละ 6.6 ของการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังเมียนมา ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป และปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงในปี 59 ได้แก่น้ำตาลทราย ที่ในเดือน ม.ค.-ก.ค. 59 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 130.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการตั้งเป้ายอดมูลค่าการค้าที่สูงขึ้นกับเมียนมาเป็นกลยุทธ์ที่จะสนับสนุนการขยายตัวด้านการค้าของไทยต่อไปได้ เนื่องจาก เศรษฐกิจเมียนมาในช่วงปี 56-58 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.2 สะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างเปราะบาง เนื่องจากเศรษฐกิจเมียนมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศสูงถึงราวร้อยละ 70 ของมูลค่า GDP จึงเป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามอง
2. OECD ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 59 เหลือเพียงร้อยละ 2.9
  • องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 59 เหลือเพียงร้อยละ 2.9 ลดลงจากร้อยละ 3.0 ในการประมาณการณ์ครั้งก่อน โดยเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะประสบความยากลำบาก จากการค้าซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมานานเริ่มขยายตัวได้ช้า เนื่องจากระบบห่วงโซ่อุปทานโลกที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในแต่ละขั้นตอนและมักจะอยู่ในจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกนั้นชะลอตัว ทั้งนี้ OECD ยังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 60 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากร้อยละ 3.3 อีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 59 ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวได้แก่ (1) เศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณการขยายตัวที่แผ่วลง ทั้งยังส่งผลให้เศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงจีนในระดับสูง อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน (2) เศรษฐกิจยูโรโซนในประเด็นด้านพัฒนาการภายหลังผลประชามติของสหราชอาณาจักรที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ส่งผลโดยตรงต่อตลาดเงินและภาคการลงทุน (3) ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแม้จะไม่มีสัญญาณเสี่ยงทางเศรษฐกิจแต่ยังไม่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ อาทิ เวียดนาม อินโดฟิลิปปินส์ และอินเดีย เป็นต้น คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 59 เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย 15 ประเทศจะขยายตัวที่ ร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)
3. ตลาดหุ้นทั่วโลกปิดบวก ขานรับเฟดคงอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 20-21 ก.ย. 59 ที่ผ่านมา (ตามเวลาสหรัฐฯ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.25ต0.50 ต่อปี ดัขนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกต่างตอบรับในทางบวก โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ณ วันที่ 21 ก.ย. 59 (ตามเวลาสหรัฐฯ) ปรับเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 163.7 จุด มาปิดที่ 18,293.7 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 และดัชนีหลักทรัพย์ S&P 500 ปรับเพิ่มขึ้น 23.4 จุด มาอยู่ที่ 2,163.1 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียในวันที่ 22 ก.ย. 59 อาทิ ดัชนีฮั่งเส็ง และดัชนี SET เป็นต้น ต่างปิดในแดนบวก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลการประชุม FOMC ดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่มีนัยที่น่าสนใจ ดังนี้ 1) มติที่ประชุมไม่เป็นเอกฉันท์ โดยคณะกรรมการ 3 ใน 10 คน มีความเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2) การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกในปีนี้ที่ FOMC ออกมาแสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีนี้ และ 2 ครั้งในปี 60 หากตลาดแรงงานยังคงรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ โดยที่ไม่มีความเสี่ยงใหม่ๆ เกิดขึ้น จากประเด็นทั้ง 2 ที่กล่าวมา จึงทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า FOMC น่าจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. 59 ซึ่งเป็นการกระชุมที่มีการแถลงข่าว (Press conference) ครั้งต่อไป โดยจากการคำนวณของ CME Group พบว่าความน่าจะเป็นที่ FOMC จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 58.4 ทั้งนี้ คาดว่ามติดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ายังตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยในช่วงที่เหลือของปี ก่อนการประชุม FOMC ครั้งสุดท้ายของปีในเดือน ธ.ค. ดังกล่าว ซึ่งต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ