รายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 30, 2016 14:53 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 33/2559

วันที่ 29 กันยายน 2559

"เศรษฐกิจภูมิภาคยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นำโดยภาคเหนือ และภาคใต้ ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าคงทน และความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกภูมิภาค ช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพยังอยู่ในเกณฑ์ดีทุกภูมิภาค"

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม ปี 2559 "เศรษฐกิจภูมิภาคยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นำโดย ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามแรงขับเคลื่อนของการบริโภคสินค้าคงทน และความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกภูมิภาค ช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพยังอยู่ในเกณฑ์ดีทุกภูมิภาค" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมาก จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐ สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 และ 27.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภูมิภาคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 43.2 ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนจดทะเบียนใหม่ และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ ขยายตัวร้อยละ 3.2 และ 229.1 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน การท่องเที่ยวในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 18.2 และ 18.2 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฎาคม) อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น จากการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 12.5 และ 12.5 ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภูมิภาคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 31.8 ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ ขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 15.9 และ 83.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน การท่องเที่ยวในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 7.5 และ 6.9 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในจังหวัดยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฎาคม) อยู่ที่ ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 20.3 และ 17.2 ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.9 และ 21.1 ต่อปี ตามลำดับ ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 84.5 ต่อปี สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ร้อยละ 7.2 และ 15.2 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวม

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง จากบริโภคสินค้าคงทนและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.3 และ 22.6 ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีทิศทางดีขึ้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 0.2 และ 30.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ร้อยละ 40.9 และ 67.2 ต่อปี ตามลำดับ และภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาคขยายตัวได้ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว จากการบริโภคสินค้าคงทน แต่การลงทุนภาคเอกชนยังเปราะบาง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการ จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย ขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 42.3 และ 21.9 ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 51.4 ต่อปี สำหรับด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 และ 4.8 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอีกครั้ง ตามการหดตัวของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาค ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม

ภาคใต้ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมาก โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และภาคเกษตร สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทั้งการบริโภคสินค้าและบริการจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่าย ขยายตัวที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี และการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 14.8 และ 27.9 ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.1 และ 27.9 ต่อปี ตามลำดับ ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 38.1 ต่อปี สำหรับ ด้านอุปทานขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากทั้งจำนวนและรายได้ขยายตัวที่ร้อยละ 13.4 และ 19.9 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาคเกษตรกรรมขยายตัวดีเช่นกัน ตามผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรในภูมิภาคที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 24.7 ต่อปี ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวยังเปราะบาง สะท้อนจากการบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดี จากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 1.2 และ 22.6 ต่อปี ตามลำดับ ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบาง จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัวแต่ในอัตราชะลอลงร้อยละ 2.3 ต่อปี ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับการประกอบการหดตัวร้อยละ -85.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี ยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 11.9 ต่อปี สอดคล้องกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 73.1 ต่อปี สำหรับด้านอุปทานยังคงเปราะบาง จากภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนกรกฏาคม) อยู่ที่ ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ