รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 11, 2016 11:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2559

Summary:

1. สศอ. ปรับกลยุทธ์เพิ่มผลิตภาพโรงงาน หลัง GDP ภาคอุตฯ หดตัว

2. ธ.ก.ส. จัดมาตรการช่วยลูกค้าเกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม

3. ซาอุฯ มั่นใจโอเปกลดการผลิตในการประชุมเดือนหน้า ขณะรัสเซียยันให้ความร่วมมือ

1. สศอ. ปรับกลยุทธ์เพิ่มผลิตภาพโรงงาน หลัง GDP ภาคอุตฯ หดตัว
  • นายศิริรุจจุลกะรัตน์ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ60 (ต.ค. 59 - ก.ย. 60) สศอ. จะเน้นขับเคลื่อนแผนงานด้านการเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมโดยตั้งเป้าให้Total facter productivitie (TFP) เป็น ร้อยละ2เพื่อให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3 ขยายตัวจากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ ร้อยละ 2 จากช่วง2-3 ปีที่ผ่านมาGDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวไม่เกิน ร้อยละ1เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลย้อนหลังของ GDP ภาคอุตสาหกรรม พบว่าในปี 57 หดตัวที่ร้อยละ -0.2 และขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ในปี 58 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการขยายตัวที่ ต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ส่งผลให้ TFP ไม่ขยายตัว และทำให้ไทยตกขบวนซัพพลายเชนของโลกในหลายๆ ด้าน และเป็นอุปสรรคด้านการแข่งขัน ซึ่งจากการที่ สศอ. จะมีการขับเคลื่อนแผนงานด้านการเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมนั้น เป็นผลดีและอาจจะเป็นทางออกที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการเพิ่มผลิตภาพยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริงที่ยั่งยืนอีกด้วย ในขณะที่ขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากความได้เปรียบทางภาษี และความได้เปรียบจากข้อตกลงการค้าต่างๆ อาจจะไม่ยั่งยืนนัก
2. ธ.ก.ส. จัดมาตรการช่วยลูกค้าเกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม
  • นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 ต.ค. นี้ จะมีวาระพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติ น้ำท่วมโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้เสนอมาตรการชดเชยเป็นรูปแบบการจ่ายเงินผ่านธ.ก.ส.ให้กับผู้ที่ได้รับกระทบจากปัญหาน้ำท่วม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่เพิ่งจะคลี่คลาย ช่วยบรรเทาภาระความสูญเสียของเกษตรกรได้บางส่วน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่กลับมาขยายตัวได้ในช่วง 5 เดือนล่าสุด อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนทำการเกษตร และการขาดรายได้ในช่วงก่อนหน้านี้ อาจทำให้เกษตรกรหลายรายยังคงมีภาระหนี้สินติดค้างอยู่ ทำให้ไม่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดความฝืดเคือง เนื่องจากไม่มีการจับจ่ายใช้สอย กอปรกับในช่วงนี้หลายพื้นที่ได้รับปัญหาจากปริมาณน้ำที่มากเกินกว่าปกติ และทำความเสียหายให้แก่พื้นที่การเกษตร ดังนั้น มาตรการชดเชยความเสียหายของเกษตรกรที่ได้รับภัยพิบัติจะมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้ และจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นได้
3. ซาอุฯ มั่นใจโอเปกลดการผลิตในการประชุมเดือนหน้า ขณะรัสเซียยันให้ความร่วมมือ
  • นายคาหลิด อัล-ฟาลีห์ รมว.พลังงานซาอุดิอาระเบีย กล่าวว่า มีความมั่นใจว่า กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 30 พ.ย. 59
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ก่อนมีการประชุมของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) พบว่า มีสัญญาณน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นเกือบร้อยละ 2 จากการที่นักลงทุนคาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันมีแนวโน้มปรับลดการผลิตในการประชุมเดือนหน้า ซึ่งข้อมูลล่าสุด พบว่า ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 59 หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) มีมติปรับลดการผลิตน้ำมันสู่ระดับ 32.5 - 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่ระดับ 33.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 59 อยู่ระหว่าง 38.0 - 44.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ