รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 19, 2016 15:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2559

Summary:

1. BAY คาดจีดีพี ปีนี้โตร้อยละ 3.2 ส่วนปีหน้าคาดเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.3

2. อุตสาหกรรมอาหารไทย ยังครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ของโลก

3. สนง.สถิติอังกฤษเผยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแตะร้อยละ 1.0 ในเดือน ก.ย. 59

1. BAY คาดจีดีพี ปีนี้โตร้อยละ 3.2 ส่วนปีหน้าคาดเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.3
  • นายสมประวิณ มันประเสริฐ ที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เปิดเผยว่า กำลังซื้อครัวเรือนมีแนวโน้มดีขึ้นทุกภูมิภาค จากรายได้ท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง และรายได้ภาคเกษตรที่ราคาสินค้าปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลบวกจากมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย และการปรับขึ้นเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทำให้คาดว่า จีดีพีปีนี้โตได้ร้อยละ 3.2 อย่างแน่นอน ส่วนปีหน้าคาดจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภายประเทศ และการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งสะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุด ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 59 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าในประเทศทั้งสิ้น 22.4 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 11.8 ต่อปี ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศที่สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ. ราคาคงที่ โดยเฉพาะการจัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 และยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามดัชนีราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ก.ค. 59 และ สศค.จะมีการปรับประมาณอีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค.59) จับตา: อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/59
2. อุตสาหกรรมอาหารไทย ยังครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ของโลก
  • ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 2558 มีมูลค่ามากกว่า 897,529 ล้านบาท และถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 1 ด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายของอาหารทั้งในแบบอาหารแช่แข็ง และอาหารแปรรูป และยังถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อให้เข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรกปี 59 มูลค่าการส่งออกของสินค้าเกษตรและอาหาร มีมูลค่า 20,709 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -5.9 ต่อปี ตามการหดตัวของการส่งออกข้าวและผลผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นสำคัญ โดยหดตัวที่ร้อยละ -5.7 และ -21.9 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการส่งออกไก่สดแปรรูป แช่เย็นแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง กุ้ง และผักผลไม้สด ยังมีแนวโน้มสดใส โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนการผลิตและราคาขนส่งลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน และจีน เป็นต้น จับตา: การส่งออกสินค้าอาหารในช่วงที่เหลือของปี 59
3. สนง.สถิติอังกฤษเผยเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแตะร้อยละ 1.0 ในเดือน ก.ย. 59
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษรายงานว่า เงินเฟ้อเดือนก.ย. 59 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับร้อยละ 1.0 จากร้อยละ 0.6 ในเดือนส.ค. 59 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557 ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นมาจาก 1) ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง 2) อังกฤษเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าสุทธิ ดังนั้นเมื่อค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลง ทำให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นด้วย และ 3) แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. ยังเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษ และจะไม่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย สอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการผลิต จากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือน ส.ค. 59 ยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.5 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษ ในปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59) จับตา: อัตราเงินเฟ้ออังกฤษในไตรมาสที่ 4 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ